ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาพของผู้ป่วยต่างฐานะรอพบแพทย์ในห้องผู้ป่วยนอก เป็นภาพที่ดูจะคุ้นชินตาสำหรับผู้คนที่เดินเข้าออกโรงพยาบาลเอกชนในกรุงไทเป

มีทั้งผู้มีรายได้น้อย บ้างมาด้วยชุดเสื้อผ้าเก่า บ้างใส่รองเท้าแตะ มีทั้งคนชั้นกลางระดับบนที่แสดงตัวตนผ่านเสื้อผ้าแบรนด์เนม

พื้นที่ที่ไม่แบ่งแยกฐานะในโรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นในทุกที่ แต่กลับเกิดขึ้นได้ในไต้หวัน เพราะการจัด “ระบบสุขภาพกองทุนเดียว” ภายใต้โครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Insurance (NHI) ที่ครอบคลุมประชากร 23 ล้านคนของไต้หวันโดยไม่แบ่งแยกช่วงชั้นทางสังคม

ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา นิตยสารด้านธุรกิจ CEOWORLD ยกอันดับ 1 ให้ไต้หวัน จาก 89 ประเทศ​ที่เป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดของโลก ขณะที่การลำดับของ HSBC Expat Explore 2014 ยกให้ไต้หวันยืนหนึ่งในเรื่องระบบสุขภาพ โดยทั้ง 2 การจัดอันดับให้ไต้หวันมีคะแนนนำด้านโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการรักษา และราคาบริการที่เหมาะสม

“ฉันคิดว่าคนที่คิดค้นระบบ NHI คือ ‘อัจฉริยะ’” Yueh-Ping Liu ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ให้ความเห็นกับ Hfocus

“ตอนที่ NHI เริ่มตั้งไข่เมื่อ 25 ปีก่อน มีระบบสุขภาพ 2 ต้นแบบหลักในโลก หนึ่ง คือแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งปล่อยให้ภาคเอกชนมีบทบาทหลักในการจัดบริการด้านสุขภาพ สอง คือแบบอังกฤษ ซึ่งภาครัฐเป็นผู้จัดบริการเป็นหลัก

ไต้หวันไม่เลือกแบบใดแบบหนึ่ง เราเลือกระหว่างกลาง คือให้ภาคเอกชนเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์เป็นหลัก ส่วนภาครัฐมีบทบาทสำคัญพอกัน คือทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณซื้อบริการจากภาคเอกชน”

ปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็น “สวัสดิการแห่งรัฐ”

ย้อนกลับไปในปี 1985 รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของ Chiang Ching-Kuo เริ่มทำนโยบาย สวัสดิการรักษาพยาบาลในไต้หวันเป็นครั้งแรก โดยให้สิทธิเฉพาะกลุ่มประชากรบางกลุ่ม ได้แก่ ชาวนา แรงงาน และข้าราชการ

อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามิได้เป็นไปด้วยความเต็มใจของพรรค แต่เป็นไปด้วย “ความจำเป็น” เพราะพรรคก๊กมินตั๋งมิได้เป็นคนพื้นเพบนเกาะไต้หวัน แต่เป็น “คนนอก” ที่หนีความพ่ายแพ้จากสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ นโยบายด้านสวัสดิการจึงเป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างความยอมรับและคะแนนนิยมจากคนท้องถิ่น

เมื่อภาคประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น จากการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเกิดข้อเรียกร้องด้าน “สิทธิ” ในหลายมิติในระหว่างทศวรรษที่ 1980-1990 หนึ่งในนั้นคือสิทธิที่ประชาชนจะได้รับ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า”

ด้วยแรงกดดันจากภาคประชาชน และแรงหนุนจากฝ่ายนักการเมือง ข้อเรียกร้องด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงถูกหยิบยกเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในปี 1994 โดยมีสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง Lee Teng-Hui ทำหน้าที่ล็อบบี้สมาชิกสภาอย่างเข้มข้น

จนกระทั่งรัฐสภามีมติผ่านกฎหมายประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance Act) และมีผลบังคับใช้ในเดือน มี.ค.ปีต่อมา การผลักดันระบบประกันสุขภาพกลายเป็นผลงานสำคัญที่ทำให้ Lee Teng-Hui ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกของไต้หวันในปี 1996

นี่ถือได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของไต้หวัน ที่เปลี่ยนการรักษาพยาบาลให้เป็น “สิทธิ”

ความสำเร็จในการตั้ง NHI ยังก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องเบี้ยผู้สูงอายุในปีต่อ ๆ มา พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าก็รับลูกต่อ โดยสมาชิกพรรค Chen Shui-Bian ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อมาและประกาศให้เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุในปี 2002

รัฐสวัสดิการกลายเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงกันอย่างเข้มข้นในระหว่างการเลือกตั้ง อาจกล่าวได้ว่ารัฐสวัสดิการคือฉันทามติที่ชาวไต้หวัน นักการเมือง และรัฐบาล เห็นเป็นเป้าหมายร่วมในการพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้น

ส่งเสริม “การแข่งขัน” ระหว่างโรงพยาบาล

NHI คือระบบประกันสุขภาพกองทุนเดียว ใช้รูปแบบร่วมจ่าย คือผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสุขภาพร่วมกับรัฐบาล อัตราเงินสมทบอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.69 ของรายได้

ผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสามารถจ่ายเงินสมทบได้ตามอัตราที่รัฐบาลกำหนด ในส่วนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและยากจน รัฐบาลจ่ายสมทบให้ทั้งหมด

ชาวไต้หวันมากกว่า 23 ล้านคนอยู่ภายใต้ NHI โดยมีโรงพยาบาลและคลินิกร้อยละ 92.8 เข้าร่วมโครงการ โดยส่วนมากเป็นสถานพยาบาลจากภาคเอกชน ผู้รับสิทธิประโยชน์ NHI สามารถเลือกเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยไม่เสียค่ารักษาหรือเสียในอัตราที่น้อยมาก รัฐบาลจะทำหน้าที่ตามจ่ายค่ารักษาด้วยงบปลายปิด ให้กับโรงพยาบาลในภายหลัง

การให้ภาคเอกชนเป็นผู้ให้บริการหลักยังหมายถึงรัฐบาลไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายด้านพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณสุข ค่าโสหุ้ยจึงตกอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก รัฐบาลจึงสามารถใช้งบประมาณจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่

การใช้“ระบบตลาด” และส่งเสริมการแข่งขันระหว่างโรงพยาบาลเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบ NHI ทำให้การให้บริการของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีคุณภาพไม่แพ้กัน

“เมื่อ 40 ปีก่อน โรงพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 ของโรงพยาบาลในไต้หวันทั้งหมด ปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ความสำเร็จของ NHI เกิดจากการเข้าร่วมโครงการของโรงพยาบาลเอกชน” Ming-Yen Wu เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนแห่งไต้หวัน ให้ความเห็น

“มีคนถามว่าทำไมเราถึงยังให้บริการที่มีคุณภาพได้ภายใต้ NHI ตอบว่าเพราะแต่ละโรงพยาบาลมีการแข่งขันสูงมากเพื่อดึงดูดผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลต้องพัฒนาการรักษาและลดค่ารักษาให้ต่ำลง ขณะที่โรงพยาบาลรัฐเน้นดูแลผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย แต่รัฐบาลก็ลดงบประมาณอุดหนุนที่ให้กับโรงพยาบาลรัฐในทุกปี เพื่อส่งเสริมให้มีความสามารถในการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชน”

การแข่งขันยังสร้างแรงจูงใจให้โรงพยาบาลทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของตนเอง และยังเพิ่มศักยภาพในตลาดอุตสาหกกรมสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ‘ไต้หวัน’ บุกตลาด ‘เทคโนโลยีสุขภาพ’ สู่เส้นทางสร้าง ‘อัศจรรย์ทางการแพทย์’)

งบกองทุนพุ่ง รัฐบาลยัง “จัดการได้”

รายงานประจำปีของกองทุน NHI ระบุว่าในปี 2018 กองทุนมีรายได้จากเงินสมทบของประชาชนรวม 611,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (608,000 ล้านบาท) โดยเก็บเงินสมทบเพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 2.8

งบเบิกจ่ายค่าบริการด้านสุขภาพภายใต้กองทุนคิดเป็น 637,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (634,000 ล้านบาท) เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 5.5 โดยงบประมาณที่ใช้จ่ายกับกองทุน NHI คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.8 ของจีดีพี

รัฐบาลจึงขาดดุล 27,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (268,000 ล้านบาท) และต้องใช้งบการคลังมาอุดค่าบริการด้านสุขภาพที่เกินจากปริมาณเงินสมทบ

ด้วยเหตุดังกล่าว ประกอบกับต้นทุนด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกปี จึงเกิดข้อถกเถียงในวงการแพทย์ว่ารัฐบาลควรประกาศขึ้นอัตราเงินสมทบหรือไม่ เพราะ ตั้งแต่ตั้งกองทุน NHI รัฐบาลประกาศขึ้นเงินสมทบเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

มีเสียงสะท้อนว่าฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับภาระการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก จึงเสนอให้ขึ้นอัตราเงินสมทบ ด้านฝ่ายนักการเมือง ไม่ตอบรับข้อเสนอนี้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะกลัวเสียฐานคะแนนเสียง

“ในทุก 4 ปี เมื่อไต้หวันมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง ข้อเสนอขึ้นอัตราเงินสมทบจะถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงทุกครั้ง” Yueh-Ping Liu กล่าว พร้อมเสริมว่า NHI มีกลไกคณะกรรมการที่มีตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกฝ่าย

“กลุ่มผู้บริโภคจะคัดค้านการขึ้นเงินอัตราสมทบ และเสนอว่ารัฐบาลควรจัดการลดความสูญเสียทางงบประมาณที่เกิดจากการรักษาหรือการให้ยาที่ไม่จำเป็นก่อน แทนที่จะเห็นว่าการขึ้นอัตราเงินสมทบเป็นทางออกเดียว

แต่ฉันคิดว่าในภาพรวม รัฐบาลยังคงจัดการระบบได้ดี ไม่ถือว่าใช้งบประมาณเกินควร และแม้จะมีเสียงบ่นจากบุคลากรในโรงพยาบาลเรื่ิองการจัดสรรงบที่จำกัด ฉันเห็นว่าโรงพยาบาลยังจัดการได้ เพราะพวกเขาสามารถประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายจากรายจ่ายในปีก่อน ลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนในปีหน้า

รัฐบาลเองก็ไม่จำกัดการทำธุรกิจของโรงพยาบาล โรงพยาบาลสามารถหารายได้จากทางอื่นนอกเหนือจาก NHI เช่น ให้เช่าพื้นที่ทำซุปเปอร์มาเก็ต ร้านอาหาร และที่จอดรถ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังสามารถของบสนับสนุนทำโครงการวิจัยและการพัฒนา (Research and Development: R&D) จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกด้วย”

“ระบบไอซีที” ลดการรักษาซ้ำซ้อน

การดำเนินโครงการที่มีรูปแบบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ย่อมเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนทางการเงินและภาวะภัยทุจรรยา (Moral hazard) หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่เปลี่ยนไปเมื่อมีประกัน

ตอนที่รัฐบาลไต้หวันดำเนินกองทุนในระยะแรก เคยใช้รูปแบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบปลายเปิด ซึ่งเกิดภาวะภัยทุจรรยาที่แพทย์ให้การรักษาเกินความจำเป็นเพื่อเบิกเงินจากรัฐบาลให้ได้มากที่สุด คนไข้ก็มาหาแพทย์เกินความจำเป็นเพราะรู้ว่ามีรัฐบาลตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้

เมื่อรัฐบาลเห็นว่าความเสี่ยงที่กองทุนจะล้มละลาย จึงปฏิรูประบบการเงินการคลังในปี 2002 โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบการเบิกจ่ายแบบ Global budget ซึ่งมีลักษณะเป็นงบปลายปิดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ยังพบกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและรับยาซ้ำซ้อนในหลายโรงพยาบาล เพราะกองทุน NHI ไม่จำกัดทางเลือกโรงพยาบาลของผู้ป่วย จึงสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ปัจจุบันผู้ได้รับสิทธิประโยชน์กองทุนเข้าพบแพทย์เฉลี่ย 14 ครั้ง/คน/ปี

“เราต้องหันมาใช้ระบบไอซีทีแก้ปัญหาเรื่องนี้ ก่อนหน้่านี้ เราเคยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์รวมที่บันทึกการเข้าพบแพทย์ของผู้ป่วยในระบบ NHI แพทย์สามารถตรวจความถี่ที่ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ในโรงพยาบาลอื่น ๆ หากมีความถี่ที่มากเกินไป ก็พออนุมานได้ว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมไปหาแพทย์และรับยาซ้ำซ้อนในหลายโรงพยาบาล”

เมื่อ 2 ปีก่อน รัฐบาลไต้หวันเริ่มเปลี่ยนมาใช้ระบบ Cloud โดยพัฒนาโปรแกรม MediCloud คือ ระบบฐานข้อมูลรวมที่แพทย์สามารถตรวจสอบประวัติด้านการรักษา และการรับยาย้อนหลังของผู้ป่วยในระบบ NHI แพทย์จึงสามารถให้การรักษาและยาเฉพาะเท่าที่จำเป็น หากพบว่าผู้ป่วยมาขอรับการรักษาซ้ำซ้อน

“โดยภาพรวม ระบบไอซีทีช่วยลดความสูญเสียทางงบประมาณที่เกิดจากการรักษาและให้ยาโดยไม่จำเป็นได้ดีทีเดียว ถ้าคุณทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไประยะหนึ่ง คุณต้องนำระบบไอซีทีมาใช้ให้เร็วที่สุด เพราะระบบจะขาดประสิทธิภาพถ้าทุกอย่างยังต้องพึ่งพาคนในการทำข้อมูล" Yueh-Ping Liu กล่าว

ผู้เขียน: ปริตตา หวังเกียรติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไต้หวันดัน Medical Tourism สุดตัว เปิด รพ.รัฐอ้าแขนรับคนไข้ต่างชาติ

‘ไต้หวัน’ บุกตลาด ‘เทคโนโลยีสุขภาพ’ สู่เส้นทางสร้าง ‘อัศจรรย์ทางการแพทย์’