ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข พร้อมดูแลสุขภาพประชาชนช่วงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูง เปิดคลินิกมลพิษใน 10 โรงพยาบาลใหญ่

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 39 แห่ง ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลศูนย์ใน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี ราชบุรี นนทบุรี นครปฐม ขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์ เปิดคลินิกมลพิษเพื่อดูแลรักษาให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และหากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีปริมาณมากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เกิน 3 วัน ให้จังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC)

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยสามารถติดตามได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai (แอร์ ฟอร์ ไทย) หรือเพจ คนรักอนามัยใส่ใจอากาศ PM 2.5 หากอยู่ในพื้นที่สีแดง สีส้ม ให้ลดเวลาทำกิจกรรมนอกบ้านและท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากและออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้านหรือโรงยิมแทน หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ/โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดที่มีปัญหาค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน คง 5 มาตรการดูแลสุขภาพประชาชน ดังนี้

1.เฝ้าระวังสถานการณ์ประเมินความเสี่ยง พร้อมแจ้งเตือนประชาชน

2.เฝ้าระวังการเจ็บป่วยใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตา โรคผิวหนัง และอื่นๆ รายงานส่วนกลางทุกสัปดาห์และสอบสวนโรค

3.สื่อสารสร้างความรอบรู้และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องกับประชาชน

4.ดูแลสุขภาพประชาชน เตรียมความพร้อม เปิดคลินิกมลพิษ เพื่อรักษา ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน

และ 5.ใช้มาตรการทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าฝุ่นละอองเพิ่ม