ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ 77 จังหวัด รุกประกาศเจตนารมณ์กลางเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ดันเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเรียกร้องกระทรวงเกษตรฯหยุดซื้อเวลา ‘แบน 3 สารเคมีการเกษตร’ และต้องเร่งเสนอทางเลือกจัดการวัชพืชและศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นแนวทางหลัก จัดงบอุดหนุนเกษตรกรระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ประเด็นเด็กกับโลกออนไลน์ ผู้ประกอบการมือถือล้ำหน้า นำร่องอบรมหลายโครงการ ย้ำรัฐควรมีหลักสูตร DQ หรือความฉลาดทางดิจิทัล ในโรงเรียน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ หลังพิธีเปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 พ.ศ.2562 เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด 77 จังหวัด และองค์กรภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ ได้ร่วมกัน ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างกล้าหาญในการแบนสามสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการเกษตร โดยต้องเสนอทางเลือกในการจัดการวัชพืชและศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นแนวทางหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไม่ประสงค์ให้มีการนำสารเคมีอื่นใดมาทดแทนสารเคมีพิษที่ถูกแบน และเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศนโยบายขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสนับสนุนให้เกิดอาหารและเกษตรปลอดภัยไร้สารเคมีพิษอย่างเป็นรูปธรรมทั่วทั้งแผ่นดิน

“หากการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรในครั้งนี้ทำให้ต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น รัฐก็ควรรับภาระในการชดเชยหรือสนับสนุนเกษตรกรเหล่านั้น โดยกระทรวงเกษตรฯ ควรประเมินงบประมาณแล้วเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติให้ทันก่อนหน้าฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมนี้” แถลงการณ์เครือข่ายฯ ระบุ

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนมติสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 21 พ.ย.2562 ที่มีมติเอกฉันท์เห็นชอบรายงานของกรรมาธิการวิสามัญควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมซึ่งเสนอให้ปรับเปลี่ยนประเทศสู่เกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนร้อยละ 100 ภายในปี 2573 และเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งแยกกฎหมายการกำกับควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกจากกฎหมายวัตถุอันตราย เพื่อให้การควบคุมการใช้สารพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเสนอให้รัฐยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าแก่เครื่องจักรกลการเกษตร วัสดุคลุมดิน หรือเครื่องมือใด ๆ สำหรับเกษตรกร เช่นเดียวกับที่รัฐบาลไม่เคยเรียกเก็บภาษีสารเคมีการเกษตรติดต่อกันมานานเกือบ 30 ปี

นางระตะนะ ศรีวรกุล

นางระตะนะ ศรีวรกุล แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรี หนึ่งในแกนนำเครือข่ายสมัชชาจังหวัด กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ยาวนานกว่า 10 ปี ยืนยันว่าเกษตรอินทรีย์สามารถจัดการศัตรูพืชได้ ทำให้ผลผลิตดีและสวยงามขายได้ง่าย ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200 ครัวเรือนใน 18 ตำบลของปราจีนบุรี และสามารถส่งขายในโรงพยาบาลหลายแห่งรวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ทั้งนี้ การรวมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะจะทำให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในด้านวัตดุดิบ องค์ความรู้ รวมทั้งทำให้ง่ายต่อการได้รับการรองรับมาตรฐานสำหรับการส่งขายในท้องตลาด

“เรามีทุกอย่างแบบที่สารเคมีมี น้ำหมัก ปุ๋ย ฮอร์โมน แล้วให้ผลดีกว่า ถูกกว่า เพราะใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในแปลงการเกษตรของเรา จริงๆ วัชพืชไม่ใช่ศัตรู มันเป็นพืชคลุมดิน ช่วยรักษาสภาพดินและความชื้นให้มีแมลง แบคทีเรีย เชื้อราที่เป็นประโยชน์กับพืชได้ สิ่งที่ต้องทำคือทำให้เกิดความสมดุลระหว่างวัชพืชกับพืชที่เราปลูก แน่นอนว่า เกษตรกรอาจไม่ชินกับวิถีนี้ เคยใช้เคมีได้เงินเป็นแสนๆ แต่ลองคำนวณดีๆ จะพบว่าแทบไม่เหลือ สุขภาพก็แย่ เกษตรอินทรีย์แม้ให้ผลน้อยกว่า แต่เหลือมากกว่า ผลผลิตขายได้ราคาดีกว่า และปลอดภัยต่อสุขภาพคนปลูก คนกิน” นางระตะนะ กล่าว

อีกเวทีหนึ่งที่น่าสนใจคือ “รู้เท่าอย่างสร้างสรรค์ รู้ทันอย่างปลอดภัย...เด็กไทยกับโลกออนไลน์” ซึ่งเป็นเวทีเสนอผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องดังกล่าว ที่มีหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันวิชาการและเครือข่ายเด็กเยาวชนมาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ทั้งเรื่องเด็กติดเกมส์ การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ (cyberbully) และการล่อลวงทางโลกออนไลน์ โดยตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนพร้อมเครือข่ายที่ทำงานเรื่องนี้ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนงานเพื่อลดผลกระทบจากสื่อออนไลน์ต่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยมีข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน 3 ประการคือ 1.ส่งเสริมให้ครอบครัวเป็นสถาบันหลักสร้างการเรียนรู้ให้เด็กรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ 2.ผลักดันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปกป้องเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ปี 2560-2564 3.จัดให้มีสื่อทุกรูปแบบเผยแพร่ชุดข้อมูลความรู้ แนวปฏิบัติในเรื่องนี้สำหรับเด็กและบุคคลแวดล้อมเด็ก

นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า รัฐและผู้ประกอบการควรลงทุนสร้างระบบและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และควรจัดการโดยแบ่งกลุ่มอายุของเด็ก เช่น ก่อน 6 ปีไม่ควรเล่นอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเองต้องเล่นกับผู้ใหญ่เท่านั้น ช่วง 6-12 ปีต้องอยู่บนแพลตฟอร์มที่ปลอดภัย มีการให้เรทติ้งเกม มีแอพควบคุมเวลา search engine มีตัวกรองที่ดี ช่วง 9-12 ปีต้องสร้างความเท่าทันทางดิจิทัล (digital literacy) อายุ 13 ปีขึ้นไปจึงจะเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตแบบที่ผู้ใหญ่ใช้ได้

ในส่วนตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนจากเอไอเอสกล่าวว่า รัฐควรจัดหลักสูตรในโรงเรียนให้มีเรื่อง ความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence Quotient) ซึ่งเป็นทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับเยาวชนยุคนี้ ส่วนเอไอเอสนั้นทำเรื่องนี้ในหลายโครงการ รวมถึงมี AIS secure net ที่ป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์จำพวกลามกอนาจร อาวุธ ความรุนแรง สิ่งเสพติด การพนัน ซึ่งพ่อแม่สามารถให้ลูกใช้ได้ ขณะที่ตัวแทนจากดีแทคกล่าวว่า เมื่อต้นปีได้ปล่อยบททดสอบความเท่าทันโลกดิจิตัล (salfeinternetforkid.com) เพื่อให้เด็กแยกแยะความเสี่ยงได้และรู้ว่าต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ตัวเองก็ไม่กระทำสิ่งไม่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย นอกจากนี้ยังเน้นการอบรมครูเพราะเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทหลักในการเป็นที่ปรึกษาและช่วยเด็กแก้ปัญหา

ประกาศเจตนารมณ์ป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์

อนึ่ง การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 โดยกิจกรรมที่น่าสนใจในวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดงาน อาทิ ปาฐกถาพิเศษ โดย นายสัมพันธ์ ศิลปะนาฏ ประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก และกรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ นายอายุ จือปา คนรุ่นใหม่ผู้พัฒนาบ้านเกิดของตนเอง และเจ้าของแบรนด์ “อาข่า อาม่า” พร้อมเสวนาประเด็นร้อน “การเฝ้าระวังและกลไกการจัดการผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์” และเวที “PM2.5 ฝุ่นขนาดเล็กกับผลกระทบที่ไม่เล็กต่อสังคมไทย” ตลอดจนบูธนิทรรศการที่น่าสนใจ การเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่เป็นประโยชน์เพื่อเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา