ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตอนนี้มีงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ทางออนไลน์ล่วงหน้าก่อนตีพิมพ์ในวารสารในฐานข้อมูลวิชาการระดับสากลอย่าง SCOPUS จำนวนถึง 172 เรื่อง

ส่วนใหญ่มักเป็นงานวิจัยในระดับห้องแล็บ และในสัตว์ แต่สำหรับที่เกี่ยวข้องในคน ขอเลือกงานที่น่าสนใจมาสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. งานวิจัยในเด็ก ม.6 (Grade 12) จำนวนกว่า 35,000 คนในอเมริกา พบว่า เด็กที่ไม่เสพกัญชาจะมีคะแนนหรือผลการเรียนดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเด็กที่เสพกัญชา ยิ่งเริ่มเสพตอนอายุน้อย พบว่ามีผลการเรียนแย่ ขาดแรงบันดาลใจในการเรียน ขาดการวางเป้าหมายในชีวิต และโดดเรียนมากกว่ากลุ่มที่ไม่เสพอย่างชัดเจน

สั้นๆ : การเสพกัญชาส่งผลต่อการเรียนและพฤติกรรมของเด็ก

2. งานวิจัยในรัฐ Utah สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นโรคไบโพลาร์ครั้งแรกนั้นได้รับการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด เจอสารสกัดกัญชา (Cannabinoids) ถึงร้อยละ 47 ซึ่งพบว่ามีอัตราสูงกว่าประชากรทั่วไปอย่างมาก ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเจาะลึกดูต่อไปว่า การเสพกัญชานั้นเป็นสาเหตุของโรคดังกล่าวจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

สั้นๆ : เป็นโรคไบโพลาร์แล้วหันมาใช้กัญชาซะมาก หรือใช้กัญชาแล้วทำให้เป็นโรคไบโพลาร์...ไม่ว่าจะแบบไหน ก็ไม่น่าจะพึงปรารถนา

3. งานวิจัยสถานการณ์ค้าขายจากนโยบายกัญชาเสรี โดยประเมินลักษณะร้านขายผลิตภัณฑ์กัญชาในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จำนวน 163 ร้าน ซึ่งมีโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ใกล้ร้านขายกัญชาถึง 333 แห่ง พบว่า มีเพียงร้อยละ 40 ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ร้อยละ 84 ไม่มีป้ายจำกัดอายุ ร้อยละ 28 ละเมิดกฎหมายห้ามแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และที่น่ากังวลคือ ร้อยละ 74 มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือโฆษณาที่มีแนวโน้มสะดุดตาแก่เด็กและเยาวชน

สั้นๆ : การติดตามกำกับในเรื่องการจำกัดอายุ การรักษาความปลอดภัย และการตลาดที่จะใช้หลอกล่อเด็กและเยาวชน คือเรื่องสำคัญในยุคสังคมกัญชา

4. งานวิจัยความสัมพันธ์ของเว็บใต้ดินกับการเสพกัญชาของประชากรอเมริกา วิจัยพฤติกรรมของประชากรโดยใช้ Big data ตั้งแต่ 2011-2015 พบว่า การเข้าถึงเว็บใต้ดินดัง ๆ 8 เว็บไซต์มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับพฤติกรรมของประชากร ทั้งในเรื่องอัตราการเสพกัญชาในแต่ละรัฐ และความถี่ในการเสพกัญชา สิ่งที่น่าสนใจคือ เว็บใต้ดินนั้นดูจะมีความสัมพันธ์กับประชากรวัยทำงานตั้งแต่อายุ 26 ปีขึ้นไป

สั้นๆ : จะทำให้มันถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ใต้ดินก็ยังครองใจคนในเรื่องแบบนี้ ท้าทายยิ่งนักว่าจะควบคุมอย่างไร

5. งานวิจัยลบคำโกหกว่ากัญชาไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ศึกษาในเยาวชนและวัยทำงานในอเมริกา พบว่า ผู้ที่กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ นั้นจะมีโอกาสที่จะให้ประวัติเสพกัญชาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ก่อความรุนแรงถึง 2.8 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น 95% คือ 1.3 เท่า -6.1 เท่า)

สั้น ๆ : การเสพยาเสพติดอย่างกัญชามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว

สุขสันต์วันคริสตมาสล่วงหน้าครับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

1. Williams GC et al. An examination of how age of onset for alcohol, cannabis, and tobacco are associated with school outcomes in grade 12. Addictive Behaviors. Volume 102, March 2020, Article number 106215.

2. Etyemez S et al. Cannabis use: A co-existing condition in first-episode bipolar mania patients. Journal of Affective Disorders. Volume 263, 15 February 2020, Pages 289-291.

3. Cao Y et al. Point-of-Sale Marketing in Recreational Marijuana Dispensaries Around California Schools. Journal of Adolescent Health. Volume 66, Issue 1, January 2020, Pages 72-78.

4. Jardine E et al. The Dark Web and cannabis use in the United States: Evidence from a big data research design. International Journal of Drug Policy. Volume 76, February 2020, Article number 102627.

5. Carter PM et al. Daily patterns of substance use and violence among a high-risk urban emerging adult sample: Results from the Flint Youth Injury Study. Addictive Behaviors. Volume 101, February 2020, 106127.

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย