ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.แจงใช้งบหลักแสน จัด “วิ่งไล่ยุง” 10 ม.ค.63 ระบุ ต้องชิงเวลาทองกำจัดก่อนเข้าสู่ช่วงระบาดโรคไข้เลือดออก ชักช้าเสี่ยงป่วยทะลุ 1.4 แสนราย ในปี 63 อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุคุ้มค่า ยกตัวอย่างสถานการณ์ปี 61 รณรงค์ใหญ่ ช่วยเซฟค่าใช้จ่าย 350 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสั่งการให้เดินหน้ารณรงค์กิจกรรมปราบลูกน้ำยุงลายตามโครงการ “วิ่งไล่ยุง” พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 10 มกราคม 2563 เนื่องจากเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา และไวรัสซิกา

นายสาธิต กล่าวว่า จากรายงานตั้งแต่เดือนมกราคม - 17 ธันวาคม 2562 มีรายงานไข้เลือดออกจำนวน 125,235 ราย มากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ถึง 2 เท่า ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 131 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5-14 ปี คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดต่อเนื่องไปถึงปี 2563 อาจพบผู้ป่วยสูงถึง 140,000 ราย ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย มีผู้ป่วย 11,046 ราย สูงกว่าในปีที่ผ่านมา 4 เท่า ดังนั้นจึงต้องร่วมกันรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายให้มีประสิทธิภาพในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองที่เราจะกำจัดยุงลายเพราะไม่มีฝนตกลงมาแล้ว อย่างไรก็ตามการกำจัดลูกน้ำยุงลายต้องทำทั้งปี ต่อเนื่อง

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำเขตร้อน ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็มีการระบาดเช่นเดียวกัน โดยในฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วย 4 แสนราย เวียดนาม 2.4 แสนราย ส่วนมาเลเซียมีจำนวนผู้ป่วยพอ ๆ กับไทยคือ 1.2 แสนราย ในส่วนของประเทศไทยล่าสุดมีพื้นที่เสี่ยง 224 อำเภอ ทั้งนี้จากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย พบว่าที่ศาสนสถานมีดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงสุดร้อยละ 48 สถานศึกษา ร้อยละ 35 โรงแรม/รีสอร์ท ร้อยละ 30 สถานที่ราชการ ร้อยละ 29 โรงงาน ร้อยละ 28 ชุมชน ร้อยละ 18 และสถานพยาบาล ร้อยละ 10 ดังนั้นจึงต้องเร่งกำจัดยุงลายก่อนเข้าฤดูฝน อีกประเด็นที่ต้องกำชับคือในจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกนั้นส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า และซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs จึงต้องขอความร่วมมือกับทางร้านขายยาในการเฝ้าระวังเรื่องนี้ด้วย พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับ อสม. ในการดูแลชุมชน หากพบผู้ป่วยในชุมชนที่มีไข้สูงเกิน 2 วัน ขอให้รีบให้คำแนะนำให้ไปพบแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามว่าในปี 2562 มีการรณรงค์อย่างเข้มข้น แต่กลับพบยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตเกินจากที่มีการคาดการณ์ไว้ ปัญหาเป็นเพราะอะไร นายสาธิต กล่าว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะคนไทยยังไม่ตระหนักมากนัก จึงทำให้เราต้องรณรงค์อย่างเข้มข้น เมื่อถามต่อว่า การณรงค์โดยจัดโครงการวิ่งไล่ยุง ถือเป็นโครงการใหญ่ จะมีดัชนีชี้วัดอย่างไรบ้าง นายสาธิต กล่าวว่าต้องลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด

เมื่อถามถึงงบประมาณที่นำมาจัดโครงการวิ่งไล่ยุง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ไม่มาก โดยในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขนั้นใช้เพียงหลักแสนบาท ของกรมควบคุมโรค ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดใช้งบของกองทุนสุขภาพตำบลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้จากการสรุปผลการดำเนินการรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกในปี 2561 พบว่าช่วยประหยัดงบประมาณด้านสุขภาพที่ต้องเสียไปจากการเข้ารับการรักษาพยาบาล ราว ๆ 350 ล้านบาท ลดการเสียชีวิตไป 100 กว่าราย และลดการป่วยลงไปครึ่งหนึ่ง ส่วนข้อมูลปี 2562 จะทำการสรุปเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2562