ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลและโฉมหน้าใหม่ของการพยาบาล “ปีแห่งพยาบาลและผดุงครรภ์” ที่จะขับเน้นบทบาทของเหล่าไนติงเกลรุ่นใหม่

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

The Economist เผยแพร่บทความเรื่อง Florence Nightingale and the changing face of nursing โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลกนิยามปี 2563 เป็น “ปีแห่งพยาบาลและผดุงครรภ์” อันเป็นวาระครบรอบ 200 ปีชาติกาลฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อร่างพื้นฐานของการพยาบาลและสุขอนามัยโรงพยาบาล หากว่าไนติงเกลได้แวะมาใช้บริการโรงพยาบาลในทุกวันนี้ก็คงจะปลาบปลื้มกับความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล

ไนติงเกลก่อตั้งวิทยาลัยการพยาบาลยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2403 และมีผลงานทั้งหนังสือและงานวิจัยราว 200 ฉบับ ไนติงเกลเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นสมาชิกราชสมาคมสถิติแห่งประเทศอังกฤษด้วยการบุกเบิกการรายงานข้อมูลเชิงสถิติในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก ไนติงเกลยังได้ใช้กราฟวงกลมอธิบายสาเหตุการเสียชีวิตของทหารอังกฤษในสมรภูมิคาบสมุทรไครเมียเพื่อยืนยันว่ามีทหารเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากกว่าการบาดเจ็บ โดยชี้ว่ากราฟเป็น “วิธีการเดียวที่จะสื่อสารข้อมูลกับคนหมู่มากซึ่งไม่ยอมรับฟังอะไรทั้งสิ้น”

หลายคนยังคิดว่าการพยาบาลเป็นทักษะเฉพาะทางซึ่งเรียนรู้กันในหอผู้ป่วยเหมือนในยุคของไนติงเกล แต่แท้จริงแล้วการพยาบาลเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาซึ่งต่อยอดได้จนถึงระดับดุษฎีบัณฑิต พยาบาลก็ไม่ต่างก็แพทย์ในแง่ที่เป็นบุคลากรซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเวชปฏิบัติ เช่น สูติกรรม อายุรศาสตร์โรคหัวใจ อุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉิน หรือกระทั่งนิติเวช อีกทั้งมีนิตยสารรายเดือนในชื่อ American Nurse Today ซึ่งอัดแน่นด้วยสาระสำหรับพยาบาลโดยเฉพาะ

นับจากปี 2563 นี้พยาบาลจะเริ่มเข้าไปมีส่วนในภารกิจซึ่งแต่เดิมเป็นภาระงานของแพทย์ทั้งในด้านการรักษาโรคเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง เห็นได้จากสถิติการให้ยาระงับความรู้สึกในสหรัฐอเมริกาซึ่งราว 2 ใน 3 รับผิดชอบโดยวิสัญญีพยาบาลซึ่งผ่านการรับรอง ด้านอังกฤษเองก็เริ่มมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้รับผิดชอบการผ่าตัดช่องท้อง ออร์โธปิดิกส์ และหัวใจ ส่วนภูมิภาคซับซาฮาราในแอฟริกานั้นพยาบาลกำลังได้รับการฝึกอบรมการผ่าคลอดฉุกเฉินซึ่งผลลัพธ์นั้นก็เทียบเคียงได้กับการทำคลอดโดยแพทย์

โฉมหน้าที่เปลี่ยนไปของการพยาบาล

พยาบาลจะก้าวเข้าไปมีบทบาทแทนแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะพยาบาลนั้นมีความช่ำชองในการดูแลรักษาแบบองค์รวมและมีบทบาทชัดเจนในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย ดังที่ไบรอัน ดอแลน นักวิชาการชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า “คนไข้มองแพทย์ด้วยความเคารพ แต่มองพยาบาลด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ” สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อบุคคลหลายสาขาอาชีพซึ่งพยาบาลนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง

สิ่งที่จะทำให้ไนติงเกลซึ่งข้ามเวลามายังปัจจุบันผิดหวังก็น่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในบทบาทของพยาบาล ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เยอรมนี และโปรตุเกสนั้น พยาบาลยังคงเป็นเพียงผู้ช่วยแพทย์และไม่มีหน้าที่วินิจฉัยโรคหรือจ่ายยา และแม้ว่าพยาบาลเป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ทุกวันนี้พยาบาลก็ยังคงไม่มีส่วนร่วมในการลงความเห็นนโยบายสาธารณสุข กระทั่งองค์การอนามัยโลกเองก็เพิ่งแต่งตั้งผู้บริหารการพยาบาลเขตบริการสุขภาพ (chief nursing officer) เอาเมื่อปี 2561 นี้เอง

การขาดแคลนพยาบาลก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่อาจทำให้ไนติงเกลถึงกับต้องขมวดคิ้ว พยาบาลเป็นสาขาที่ขาดแคลนมากที่สุดในหลายประเทศ ในช่วง 10 ปีนับจากนี้การขาดแคลนพยาบาลจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศจะต้องเผชิญ โดยประเมินกันว่าจะมีตัวเลขตำแหน่งว่างถึง 7.6 ล้านตำแหน่งหรือเทียบได้ราว 1 ใน 3 ของจำนวนพยาบาลในทุกวันนี้

การจะแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลต้องอาศัยการเร่งรัดพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่และรั้งตัวพยาบาลไม่ให้ลาออกไป หลายประเทศจะต้องหันมาสร้างพยาบาลของตนเองแทนที่จะดึงดูดพยาบาลจากประเทศยากจนซึ่งเดิมทีก็มีปัญหาขาดแคลนพยาบาลอยู่แล้ว ภาครัฐจะต้องรณรงค์ยกระดับและลบล้างภาพจำเดิม ๆ ในแง่ลบต่อวิชาชีพพยาบาล โดยอาจศึกษาตัวอย่างของสิงคโปร์ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของพยาบาลผ่านละครโทรทัศน์ สารคดี ‘เพลงชาติของชาวพยาบาล’ ในรูปแบบมิวสิควิดีโอเพลงฮิตติดหู ตลอดจนช่องอินสตาแกรมซึ่งวางคอนเทนท์ไว้ครอบคลุมกระทั่งเรื่องราวหนุ่มสาวที่พบรักกันในวิทยาลัยพยาบาล

โรงพยาบาลและสถานประกอบการเริ่มวางโครงการพัฒนาอาชีพและความเป็นผู้นำสำหรับพยาบาลกันบ้างแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็คาดว่าจะมีการหารือและผลักดันเพื่อยกระดับความเป็นมืออาชีพและความสามารถของพยาบาลให้ไปถึงขีดสุด ส่วนเทคโนโลยีก็จะเข้ามามีบทบาทช่วยแบ่งเบาภาระงานของพยาบาล เช่น การใช้อัลกอริธึมสำหรับกำหนดตารางงานในหอผู้ป่วย

ท่ามกลางความก้าวหน้าด้านเครื่องมือการวินิจฉัยและการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ อาจทำให้มองได้ว่าพยาบาลเป็นเพียงพื้นที่เดียวของการแพทย์ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถเข้ามาแทนมนุษย์ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้การพยาบาลเป็นศาสตร์ที่มีรากฐานจากวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยี แต่เวชปฏิบัติของพยาบาลก็ยังคงหยั่งรากลึกอยู่กับกับความเมตตาและการสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย

และยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอมานับตั้งแต่ยุคของไนติงเกล...

แปลและเรียบเรียงโดย หฤทัย เกียรติพรพานิช จาก

Florence Nightingale and the changing face of nursing [www.economist.com]

เรื่องที่เกี่ยวข้อง