ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่าระบบบริการปฐมภูมิ คือหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่การดำเนินงานอาจไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ในทุกพื้นที่ หากไม่มีความเข้าใจในการก้าวไปสู่งานเชิงรุกที่จำเป็นต้องรับรู้บริบทของสังคม

อย่างไรก็ตามหากดูตัวอย่างจากพื้นที่รูปธรรม หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่ปรากฏผ่านการทำงานตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ จากภายในตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

พญ.รัตนา ยอดอานนท์

พญ.รัตนา ยอดอานนท์ รองผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลปากช่องนานา เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานด้านปฐมภูมิของโรงพยาบาล ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2545 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย

เธอระบุว่า ช่วงเริ่มแรกในการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว (PCC) นั้นได้ประสานกับเทศบาลเมืองปากช่องเรื่องของสถานที่ให้บริการ ซึ่งมีหน่วยบริการสาธารณสุขเดิม โดยทีมของโรงพยาบาลได้อาสาเข้ามาช่วยเติมเต็มการให้บริการ พร้อมเริ่มต้นนับหนึ่งในการวางระบบดูแลสุขภาพผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน

เธอเน้นย้ำว่าการมีส่วนร่วมจากชุมชนนี้เอง คือปัจจัยสำคัญที่กลายมาเป็นจุดแข็งให้การทำงานปฐมภูมิของพื้นที่นี้ประสบผลสำเร็จ ผ่านการประชาคมร่วมกับชุมชน และปรับระบบการให้บริการที่มุ่งเน้นการลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนอย่างจริงจัง การดูแลเคสผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ทำให้ชาวบ้านได้สัมผัสกับการเข้าถึงบริการได้โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

"เราให้บริการเหมือน PCC ทั่วไป คืองานส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูคนทุกกลุ่มวัย แต่อีกสิ่งที่มีความแตกต่างคือเรามีบุคลากรที่เป็นลูกหลานบ้านนี้ มีหัวใจตั้งต้นที่จะอยู่และทำงานที่ตนรัก พอมีหมอลงไปก็ได้รับความศรัทธา ชาวบ้านรู้สึกดีได้เจอหมอโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล รู้สึกว่ามีที่พึ่งพาได้ เป็นภาพความอบอุ่น" พญ.รัตนา ระบุ

ด้วยจุดเด่นในเรื่องความเข้มแข็งของชุมชนนี้ ทำให้เมื่อมีความต้องการช่วยเหลือด้านใด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงบประมาณหรือแรงงาน ภาพที่เกิดขึ้นคือการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการระดมเงิน ระดมแรง ลงมาช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่และแข็งขัน ซึ่ง พญ.รัตนา สรุปว่าเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง

"ชุมชนมีความเข้มแข็ง คนทำงานก็มีความสุข ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานคนพื้นที่ เวลาลงไปทำงานก็มีความเข้าใจมากกว่าอาการป่วยของเขา ทำให้การทำงานง่ายขึ้น รู้ว่าจุดไหนเป็นปัญหา รู้ว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากใคร" ผู้บุกเบิก PCC หนองสาหร่ายรายนี้ สรุปจุดแข็งของพื้นที่

ขณะเดียวกัน ด้วยเขตเทศบาลเมืองปากช่องที่มีประชากรอยู่ราว 4 หมื่นคน ตามหลักการ PCC แต่ละแห่งควรรองรับไม่เกิน 1 หมื่นคน จึงได้มีการจัดสรรเป็นคลัสเตอร์ของจุดบริการปฐมภูมิรวม 4 จุดในปัจจุบัน คือ หนองสาหร่าย ประปา หนองกะจะ และภายในโรงพยาบาลปากช่องนานาเอง ทำให้อำเภอแห่งนี้มีบริการปฐมภูมิที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างครอบคลุม

ด้าน นางสุมาลัย วรรณกิจไพศาล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคลินิกหมอครอบครัวหนองสาหร่าย เสริมรายละเอียดของการดำเนินงาน PCC ว่า ในช่วงเช้าและช่วงเย็นของแต่ละวันจะให้บริการตรวจรักษาทั่วไป ยกเว้นในช่วงบ่ายที่จะเป็นการออกตรวจเยี่ยมชุมชนแทน

นอกเหนือการตรวจรักษาทั่วไปแล้ว ในแต่ละวันยังจัดสรรการให้บริการหลัก เช่น วันจันทร์ เป็นคลินิกฝากท้อง โดยมีสูตินรีแพทย์มานิเทศติดตาม วันอังคาร เป็นคลินิกตรวจตามนัด เจาะตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ วันพุธ คลินิกสุขภาพเด็ก วันพฤหัสบดี เป็นคลินิกเบาหวาน พร้อมกิจกรรมการสวดมนต์ทำสมาธิ และวันศุกร์ เป็นคลินิกโรคความดันโลหิตสูง

เรื่องของนวัตกรรมการดูแล PCC ของพื้นที่นี้มีการทำงานตามกลุ่มวัย ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานมหัศจรรย์พันวันแรกของชีวิต ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข หรือเรื่องของสุขภาพดี วิถีไทย วิถีธรรม ที่ดำเนินกิจกรรมสวดมนต์ ทำสมาธิ ใช้วิถีพุทธในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเรื่องของตะกร้าสมุนไพร สวนสมุนไพร ที่ใช้อาหารเป็นยาในการดูแลสุขภาพ

เธอสรุปภาพรวมความสำเร็จของ PCC ที่สามารถสกัดกั้นผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลได้มากกว่า 70% โดยเฉพาะเคสเบาหวาน ความดัน ที่อยู่ในการดูแลของ PCC ราว 90% ซึ่งจากการสำรวจยังพบว่าคนไข้เกือบทั้งหมดล้วนมีความพึงพอใจกับกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงผลการตรวจสุขภาพประจำปี ยังพบว่าคนไข้ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมันได้ดีขึ้น

พร้อมกันนี้ เธอยังเห็นด้วยว่าจุดเด่นของพื้นที่คือความร่วมมือของชุมชน การมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของนับตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน ทั้งในแง่ของเงินบริจาคที่ได้รับการสนับสนุนจำนวนมาก สามารถนำไปซื้อเครื่องมือแพทย์ ซื้อที่ดิน หรือต่อเติมอาคารได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานทำบุญวันเกิดประจำปี ที่จัดขึ้นเป็นประจำตลอด 19 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างง่ายดาย เมื่อเธอมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน PCC ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องคน เงิน ของ มากนัก หรือแม้แต่ตัวบุคลากรเองที่ยังไม่มั่นใจในระบบการทำงานว่าจะเกิดความมั่นคงในชีวิตได้ ไปจนกระทั่งผู้คนในชุมชนที่ยังไม่ได้ให้ความเข้าใจ

"พอเราบอกกับชุมชนว่าจะลงมาช่วยดูแลสุขภาพ ช่วงแรกเขาไม่เข้าใจ และจะมีคำพูดประมาณว่า มาให้จริงเถอะ รอดูเหมือนกันว่าชาวบ้านกับหมอใครจะแน่กว่ากัน แต่สิ่งที่ดำเนินผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเรากับชุมชนได้เดินคู่กันมาตลอด ได้พัฒนาร่วมคิดร่วมสร้างมาด้วยกัน" พยาบาลรายนี้ ระบุ

ปัจจุบันทีม PCC ของพื้นที่หนองสาหร่ายมีเจ้าหน้าที่ครบตามเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ประจำ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการ เจ้าพนักงานสาธารณสุข ตลอดจนส่วนที่เพิ่มในด้านทันตกรรม แพทย์แผนไทย หรือกายภาพบำบัด ด้วยการสนับสนุนทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลปากช่องนานาลงมายังคลินิกหมอครอบครัว ทำให้สามารถดูแลและเข้าถึงประชาชนได้อย่างครอบคลุม

"เรามี พญ.รัตนา เป็นแกนนำหลัก พร้อมกับทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ จนก้าวเดินและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งแตกหน่อ ต่อยอด ขยายพื้นที่การทำงานปฐมภูมิ ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งเราเองก็ได้เรียนรู้ว่าสามารถทำอะไรได้มากกว่าเป็นพยาบาลในวอร์ด ทำให้รู้สึกมีความสุขกับการทำงาน ได้ใช้เครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และที่สำคัญคือการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่ชัดเจนให้เราสามารถเดินหน้ามาได้ขนาดนี้" เธอสรุปทิ้งท้าย

หมายเหตุ คลินิกหมอครอบครัวหนองสาหร่ายนั้น เป็น 1 ใน 7 สถานที่ศึกษาดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2563 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศจะลงพื้นที่ศึกษาดูงานในวันที่ 30 มกราคม 2563 นี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง