ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

21-23 ม.ค.63 สปสช.จัดเวทีระดับประเทศ ลงคะแนนคัดเลือกกรรมการบอร์ด สปสช. วาระที่ 5 ร่วมบริหารกองทุนบัตรทอง ปี 2563-2567 เผยกระบวนการคัดเลือกเป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายอย่างโปร่งใส

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 - นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สมัยวาระที่ 4 จะครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ประกอบด้วยกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีกรรมการสัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา สปสช.ได้ประกาศรับสมัครและเดินหน้ากระบวนการคัดเลือกกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในสมัยวาระที่ 5 ( 2563-2567) โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด เปิดให้ทำการคัดเลือกตัวแทนกันเองภายในกลุ่ม ได้แก่

1.ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

2.ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพ ได้แก่ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทันตกรรม เภสัชกรรม เป็นต้น

3.ผู้แทนผู้ประกอบโรคศิลปะ ได้แก่ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขารังสีเทคนิค สาขากิจกรรมบำบัด สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และสาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย และให้รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด และผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

4.ผู้แทนองค์กรเอกชน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านเด็กหรือเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช ด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น ด้านผู้ใช้แรงงาน ด้านชุมชนแออัด ด้านเกษตร และด้านชนกลุ่มน้อย

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในวันที่ 21-23 ม.ค. 63 สปสช.จะดำเนินกระบวนการระดับประเทศเพื่อคัดเลือกผู้แทนจากแต่ละกลุ่มในขั้นสุดท้าย หลังผู้แทนที่ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด ซึ่งจะได้รายชื่อผู้แทนจากแต่ละกลุ่มร่วมทำหน้าที่กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในวาระที่ 5 นี้

“การคัดเลือกบอร์ด สปสช. และกรรมการควบคุมคุณภาพ สปสช.ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายทุกขั้นตอน เปิดให้แต่ละกลุ่มทำการคัดเลือกผู้แทนกันเองเพื่อให้ได้ผู้เหมาะสม และในวันนี้ สปสช.ได้ทำการซักซ้อมกระบวนการคัดเลือกเพื่อการคัดเลือกในวันพรุ่งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งภายหลังจากได้รายชื่อกรรมการที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว จะมีการประกาศให้สาธารณะรับทราบต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน นั้น ประกอบด้วยกรรมการ 30 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 9 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรเอกชน 5 ตำแหน่ง กรรมการผู้แทนหน่วยงาน 5 ตำแหน่ง (จาก แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา และ รพ.เอกชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ตำแหน่ง (ประกันสุขภาพ, การแพทย์และสาธารณสุข, การแพทย์แผนไทย, การแพทย์ทางเลือก, การเงินการคลัง, กฎหมาย และ สังคมศาสตร์)

ขณะที่ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีกรรมการ 35 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 4 ตำแหน่ง กรรมการผู้แทนหน่วยงาน 6 ตำแหน่ง (จาก แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา, สภาทนายความ และ รพ.เอกชน) กรรมการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ตำแหน่ง กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพ 3 ตำแหน่ง กรรมการจากราชวิทยาลัย 4 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรเอกชน 5 ตำแหน่ง กรรมการจากผู้ประกอบโรคศิลปะ 3 ตำแหน่ง กรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ตำแหน่ง