ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.เพิ่มบุคลากรสาธารณสุขอีก 5,000 คน เสริมการทำงานกรมควบคุมโรครับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ วอนคนไทยอย่าตื่นตระหนก เผยผู้ป่วย 8 คนที่ติดเชื้อ รักษาหายให้กลับบ้านแล้ว 5 คน อีก 3 คนอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ยันยังไม่มีใครเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าการควบคุมและเฝ้าระวังไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า สถานการณ์ในเมืองไทยล่าสุดยังยืนยันตัวเลขผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 8 ราย รักษาหายออกจาก รพ.แล้ว 5 ราย เหลือ 3 รายที่ยังให้การดูแลอยู่ในห้องแยกโรค อาการดีขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ในรายที่เราดูแลอยู่นั้นสามารถรักษาให้หายได้ 100 % สำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3-26 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 102 ราย คัดกรองจากสนามบิน 24 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 78 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 54 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรับไว้ในห้องแยกโรค 48 ราย

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการคุมเข้มระดับสูงสุดอยู่แล้ว และเพิ่มการคัดกรองสายการบินจากกวางโจว และฉางชุนด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้เพื่อรองรับสถานการณ์เราต้องการกำลังคนอีก 5 พันคน เข้าไปเสริมการทำงานของทีมบุคลากรของกรมควบคุมโรค จึงได้สั่งการให้บุคลากรจาก รพ.ในสังกัดโดยรอบจังหวัดที่มีการตั้งจุดสกัดเพื่อสลับหมุนเวียนกันทำงานให้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้มีเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องเปิดรับอาสาสมัคร โดยยืนยันว่าบุคลากรเหล่านี้มีศักยภาพในการรับมือโรคระบาดเช่นเดียวกัน

“ความสำเร็จในการคุมป้องกันโรค มี 3 ประเด็นสำคัญคือ 1. การคัดกรองที่ด่านซึ่งเราทำอย่างเข้มข้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ 100 % เพราะยังมีกลุ่มที่ไม่แสดงอาการระหว่างการคัดกรอง หรือบางคนกินยาแก้ไข้ 2. คือสถานพยาบาลต้องเฝ้าระวังเข้ม และข้อ 3 ซึ่งสำคัญมากเราจะแพ้หรือชนะอยู่ที่ชุมชนต้องเฝ้าระวังร่วมกัน ถ้าทำ 2 ข้อแรกดีแค่ไหนแต่ชุมชนไม่เข้มแข็งก็ไม่สำเร็จ ซึ่งวันนี้เราทำทั้ง 3 ข้อนี้ได้อย่างสมบูรณ์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว และว่าส่วนข่าวลือว่าที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ มีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 รายนั้นไม่เป็นความจริง

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะตื่นตระหนก มีข้อมูลข่าวสารออกมามากที่สำคัญกับประเทศไทย ขอความร่วมจากประชาชน หากได้รับข้อมูลอะไรมาอย่างเพิ่งเชื่อ และอย่าเพิ่งส่งต่อ แต่ขอให้ส่งข้อมูลมาที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป และยืนยันว่ากระทรวงไม่เคยปกปิดข้อมูล แต่การประกาศต้องผ่านกระบวนตรวจสอบอาการ ตรวจสอบทางระบาด และมีผลแล็บยืนยัน ทั้ง 3 อย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ฟังข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงเป็นหลัก

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การวิ่งตามตัวเลขเกิดประโยชน์น้อยมาก ขอให้ช่วยกันสื่อสารมาตรการป้องกันโรคดีกว่า แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดอื่น ๆ ดังนั้นขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ นอกจากนี้ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองที่มีการแพร่ระบาดของโรค หากจำเป็นต้องไปจริง ๆ ขอให้หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เลี่ยงไปตลาดค้าสัตว์ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับใคร หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารไม่ปรุงสุก ล้างมือบ่อย ๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอ และเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยหลังจาก 14 วันมีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หรือโทรสายด่วน 1442 หรือหากจะไปพบแพทย์ด้วยตัวเองขอให้สวมหน้ากากอนามัย

เมื่อถามถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดในไทยมีจำนวนเท่าไหร่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ทางท่าอากาศยานได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่จีนมีการปิดสนามบินแล้ว อย่างไรก็ตามโดยหลักการแล้วเชื้อนี้เรายังมีข้อมูลไม่มาก เรื่องระยะฟักตัวทางการจีนเองยังไม่กล้ายืนยัน แต่ใช้หลักการระยะฟักตัวของเชื้อกลุ่มโคโรนาจะอยู่ที่ 14 วัน จึงยึดตรงนี้ ดังนั้นหากพ้นระยะเวลา 14 วันแล้วก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าปลอดภัย แต่ถ้ายังไม่พ้นช่วง 14 วัน ก็ขอให้ช่วยกันดูแล

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า จากการที่ประชุมหารือร่วมกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิล่าสุด ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจีนท่องเที่ยวอยู่ 2 หมื่นคนเข้ามาก่อนที่จะปิดประเทศ คนกลุ่มนี้กำลังทยอยเดินทางกลับ โดยสารการบินที่นำเข้ามาเพื่อไปส่งที่สนามบินใกล้ ๆ เจ้าหน้าที่มีการเฝ้าระวังอยู่ว่ามีอาการป่วยหรือมีอาการอะไรหรือไม่ ปัจจุบันยังเป็นปกติ

เมื่อถามว่าได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดการระบาดใหญ่หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากการประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส ด้านโรคติดต่อ ก็มีการเตรียมความพร้อมกันในเรื่องนี้ ซึ่งจริง ๆ โรคนี้ไม่มียารักษา แต่จากข้อมูลที่เราได้รับจากจีนพบว่ามีการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในการรักษาโรค แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นยังไม่รู้ว่ารักษาได้จริงหรือไม่ แต่เมื่อพูดมาเช่นนี้ เราก็ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบไปยังองค์การเภสัชกรรมมียาเพียงพอ แต่ยานี้ไม่ใช่ยาที่จะใช้ได้ทั่วไป ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก และที่สำคัญคือในการรักษาผู้ป่วยติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ เราไม่ได้ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในการรักษา แต่ให้การรักษาตามอาการ

เมื่อถามว่ามีกระแสคนจีนจะเข้ามายังประเทศไทยเพื่อรักษาตัวเพราะไทยดูแลดี นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ทางการจีนมีมาตรการเข้มข้น บางเมืองปิดการเดินทางแล้ว และยังมีมาตรการห้ามผู้ป่วยเดินทางอีก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยก็ประสานสายการบินห้ามผู้ป่วยขึ้นเครื่องเช่นกัน รวมถึงเราสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายได้ ส่วนข้อกังวลเรื่องพัสดุส่งจากประเทศจีนจะเสี่ยงนำเชื้อเข้ามาในประเทศหรือไม่นั้น เรียนว่าเชื้อโคโรนาเป็นเชื้อโรคที่ไม่ทนต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก บางชนิดอยู่ได้ 8 ชั่วโมง บางชนิด 10 ชั่วโมง ซึ่งพัสดุที่เดินทางจากต่างประเทศไม่น่าจะเข้ามาเร็ว ดังนั้นโอกาสในการติดต่อจากพัสดุค่อนข้างต่ำ แต่ขอย้ำว่าให้ทุกคนหมั่นล้างมือจนเป็นนิสัย

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วย 8 รายที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น ให้การรักษาตามอาการ มีไข้ ให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำ ให้อ็อกซิเจน และให้พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาอาการแทรกซ้อน

ภาพจาก https://gisanddata.maps.arcgis.com/

ขณะที่สถิติผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 2,794 คน เสียชีวิตแล้ว 80 คน โดยประเทศที่ติดเชื้ออันดับ 1 ได้แก่ จีน 2,737 คน อันดับ 2 ไทยและฮ่องกงเท่ากันที่ 8 คน อันดับที่ 3 มาเก๊า 6 คน อันดับที่ 4 สหรัฐอเมริกา 5 คน อันดับ 5 ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และไต้หวัน เท่ากัน ประเทศละ 4 คน อันดับ 5 ฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ เท่ากันประเทศละ 3 คน อันดับ 7 เวียดนาม 2 คน อันดับ 8 แคนาดาและเนปาล ประเทศละ 1 คน