ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากข้อมูลตั้งแต่เชื้อมีการแพร่ระบาดในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2019 จนถึง 4 ก.พ.2020

มีคนติดเชื้อนี้ไปแล้วกว่า 20,000 คน โดยร้อยละ 98.9 เป็นผู้ป่วยในประเทศจีน และมีการค้นพบผู้ติดเชื้อที่ประเทศอื่นรวมแล้ว 26 ประเทศ แต่จำนวนรวมกันไม่ถึง 200 คน

มีคนเสียชีวิตไปกว่า 400 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตที่ประเทศจีน

จากการสร้างโมเดลคาดประมาณการติดเชื้อ คาดว่าอาจมีคนติดเชื้อเฉพาะในเมือง Wuhan ประเทศจีน ราว 75,815 คน

มีการคาดประมาณค่า Reproductive number (R0) ของเชื้อนี้ว่าน่าจะประมาณ 2.68 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% CI = 2.47-2.86) แปลว่า คนที่ติดเชื้อ 2019-nCoV แต่ละรายจะสามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ไปให้คนอื่นในสังคมได้ประมาณ 3 คน

แปลทางภาษานักระบาดวิทยาคือ โรคนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะแพร่ระบาด หากไม่มีการดำเนินการควบคุมป้องกันอย่างจริงจัง ในทางทฤษฎีเราเชื่อว่า ไม่น่าจะระบาดหาก R0 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1

จากสถิติที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า ทุก ๆ 6.4 วัน

เมื่อเทียบกับโรค SARS ในปี 2002 และ MERS ในปี 2012 แล้ว เชื้อ 2019-nCoV นี้มีแนวโน้มที่จะติดได้ง่ายกว่า 2 ตัวนั้นบ้าง แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ามาก

จากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่าเชื้อนี้มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการราว 5.2 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น 95% CI = 4.1-7.0) ถึงแม้จะมีรายงานว่าคนที่ติดเชื้อบางคนอาจได้รับเชื้อจากคนที่ติดเชื้อในระยะที่ไม่มีอาการ แต่หากดูข้อมูลภาพรวมแล้วจะพบว่าคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่อยู่ในระยะมีอาการมากกว่าไม่มีอาการ

อาการส่วนใหญ่มักไม่ค่อยจำเพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ ไอแห้ง ๆ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว เจ็บคอ ท้องเสีย โดยมีราว 1 ใน 3 ที่อาจมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ

คนที่ติดเชื้อราว 1 ใน 3 จะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงจนต้องดูแลรักษาในไอซียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อย่างเช่น เบาหวาน ความดันสูง

ประวัติการเดินทางไปประเทศจีน หรือพบปะสัมผัสกับผู้ที่เพิ่งเดินทางจากประเทศจีน ภายในระยะเวลา 14 วัน ถือเป็นคำถามที่จำเป็นใช้ถามเพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ไอหรือหอบเหนื่อย

แม้จะมีการทดลองใช้ยาหลายต่อหลายตัวในการรักษา แต่ยังไม่มียามาตรฐานที่จะแนะนำได้.

โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

del Rio C et al. 2019 Novel Coronavirus—Important Information for Clinicians. JAMA. Published online February 5, 2020. doi:10.1001/jama.2020.1490

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพจาก https://gisanddata.maps.arcgis.com/