ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พบผู้ป่วย “โคโรนา 2019”เพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 33 ราย ส่วนเรือสำราญขอจอดเทียบท่า เบื้องต้นยังไม่อนุญาต แต่ส่ง จนท.หารือข้อมูลเพิ่ม แง้มหลักการคุมโรคระบาด ยึดประโยชน์คนในชาติเป็นหลัก ควบคู่หลักมนุษยธรรม

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ผู้ป่วยสะสมถึงวันที่ 10 ก.พ. 32 ราย ล่าสุดวันนี้ (11 ก.พ.) มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน อายุประมาณ 54 ปี เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ก่อนที่จะสั่งห้ามการเดินทาง ทั้งนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยชาวจีนที่กระทรวงสาธารณสุขเคยแถลงเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ฯ รายที่ 22 จึงถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เราเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เมื่อมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ไม่มากก็นำเข้าห้องแยกโรค ที่สถาบันบำราศนราดูร ทันทีเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันติดเชื้อเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว

“ขอให้ประชาชนอย่ากังวลว่าผู้ป่วยรายนี้จะแพร่โรค เพราะตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยรายที่ 22 เราได้ติดตามเฝ้าระวังมาตลอด พอรายล่าสุดซึ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด มีไข้ก็เอาเข้าห้องแยกโรคเลย” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ตอนนี้ผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 33 ราย รักษาหายออกจาก รพ.แล้ว 10 ราย ส่วนผู้ป่วย 2 รายที่อาการหนักคือผู้ป่วยอายุประมาณ 70 ปี มีวัณโรคร่วม และผู้ป่วยอายุประมาณ 30 กว่าปี ได้รับแอนติบอดี้ของคนขับแท็กซี่ที่รักษาหายไปก่อนหน้านี้ ยังอยู่ระหว่างรอผล อาการทรงตัวทั้ง 2 ราย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับกระแสข่าวเรือสำราญเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม (Westerdam) มาขอเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีนั้น เรียนว่าได้มีการประสานเข้ามาจริง แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จอดเทียบท่า ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 10 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง รมว.คมนาคม เบื้องต้นยืนยันว่ายังไม่ได้อนุญาตให้เรือดังกล่าวเข้ามาจอดแต่อย่างใด และเรือลำนี้ไม่ได้มีเส้นทางเข้ามาไทยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 6 ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อระหว่างประเทศ หารือร่วมกับการท่าเรือเพื่อกำหนดการดำเนินการต่อไปเพื่อให้มั่นใจไม่ให้มีการนำเอาโรคติดต่อเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้กระทรวงจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ในมาตรา 23 ให้มีคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังก็มี และตามมาตรา 39 กำหนดเหตุสงสัยว่าเรือมาจากท้องที่ หรือเมืองท่าที่มีโรคระบาด กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคประจำด่าน มีอำนาจตรวจผู้เดินทางและพาหนะพิจารณาเรื่องการเข้าเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นไม่อนุญาตให้เทียบท่าแล้ว เรายังต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปเพื่อพิจารณาอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ตอนนี้เราไม่อนุญาตให้เทียบท่า แต่เมื่อมีการแจ้งเข้ามา แล้วเมื่อวันที่ 10 ก.พ.มีข่าวว่ารัฐบาลไทยอนุญาตแล้ว เราจึงต้องทำให้ชัดเจน เมื่อถามต่อว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพิจารณาแล้วแสดงว่าจะพิจารณาออกมาว่าอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้เทียบท่าใช่หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ถามในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ใช้คำว่าลงไปดูข้อมูลหน้างาน มีเส้นทางผ่านหรือไม่ ตามข่าวเส้นทางไม่ผ่านไทยก็ต้องเรียกข้อมูลจากเอเจนซี่ และบริษัทเรือ เราจะดำเนินการตามข้อมูลตามกฎหมาย ไม่ใช่ข้อมูลตามข่าว นโยบายของรัฐบาล ผู้บริหารสูงสุดจะให้ความสำคัญกับการให้ความมั่นใจในการป้องกัน ควบคุมไม่ให้มีโรคติดต่อระหว่างประเทศเข้ามาประเทศไทย ตอนนี้ข้อมูลยังมาไม่ถึง ยังไม่เรียบร้อย หากข้อมูลไม่ต้องพิจารณาก็ไม่ต้องพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่าต่อว่า แปลว่าไม่ให้จอดเทียบท่า แต่ให้อยู่ลอยลำหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ตอนนี้สถานะเรือก็ยังมาไม่ถึง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมติดตามใกล้ชิด เรื่องนี้เราดำเนินการควบคุมโรคโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศสูงสุด แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราควบคู่ไปด้วยคือมนุษยธรรม ยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นที่ดูประโยชน์ประเทศเป็นหลัก และดูเรื่องภาระประเทศโดยรวม เรือนั้นเนื่องจากมาเทียบท่าแล้ว แต่เขาไม่อนุญาต แต่ก็ยังดูแล ตามมนุษยธรรม มีคนป่วยก็ต้องดูแล อย่างไรก็ตาม อย่านำไปโยงกับกรณีของไทยซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอย่างที่บอกเรือไม่ได้มีเส้นทางมาตั้งแต่แรก และเรือยังเดินทางมาไม่ถึง

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าตามเกณฑ์การปฏิบัติกรณีมีเรือลักษณะนี้มาเทียบท่า ประเทศไทยจะปฏิบัติแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่น คือให้ผู้โดยสารทุกคนอยู่แค่บนเรือ หรือให้ลงมาอยู่ในพื้นที่แยกโรคเฉพาะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อันนี้ก็สมมติ แล้วแต่กรณี อย่าคาดการณ์ หรือสอบถามสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด แต่ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการอนุญาตให้เรือเทียบท่า ณ ตอนนี้

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของ รพ.ราชวิถี และสถาบันโรคทรวงอก รวม 7 คนนั้น ทุกคนอาการขึ้นตามลำดับ เตรียมให้ออกจา กรพ. 1-2 รายเร็ว ๆ นี้ และเพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ที่เผื่อจะระบาด ยืนยันว่าตอนนี้เรามีห้องแยกโรคเพียงพอทั่วประเทศ และขณะนี้สั่งการไปยังทุกจังหวัดเพื่อให้ดำเนินการตั้งคลินิกแยกผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจแยกจากผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว