ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอจุฬาฯ เปิดวงเสวนา ให้ความรู้ประชาชนเผชิญเหตุความรุนแรง หลักการคือ “หนี ซ่อน สู้” รู้จักหลบ ซ่อน กู้สภาพจิตใจ พร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เผย เหตุกราดยิงส่วนใหญ่ถูกแขน ขา แนะปฐมพยาบาล ห้ามเลือดลดการตาย พร้อมระบุบทเรียนจากเหตุกราดยิงสะท้อนต้องมีมาตรการ วิธีเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “Escape and Survive in Mass Shooting” ภายหลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ความรู้กับแพทย์ บุคลากรการแพทย์ และประชาชนทั่วไป เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

พอ.นพ.ณัฐ ไกรโรจนานันท์ ศัลยแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า การกราดยิงเป็นหนึ่งในการสังหารหมู่ ข้อมูลที่สหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมแผนการ ทำในเวลาสั้น เร็ว ไม่มีภาวะที่จิตสงบ สุดท้ายคนก่อเหตุ 46% จบด้วยการถูกวิสามัญ 40% ฆ่าตัวตายหลังก่อเหตุเสร็จ และประมาณ 10 % สามารถสงบสติและยอมจำนน เข้าสู่การดำเนินคดี และจากที่นักวิชาการเคยศึกษาข้อมูลการกราดยิงที่สหรัฐฯ ย้อนหลัง 12 ปี พบว่าคนที่เสียชีวิตทันทีมักถูกยิงที่ศีรษะ หรือหน้าอก 77 % แต่ส่วนใหญ่ถูกยิงที่ขา หรือแขน ในส่วนนี้ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่น่าเสียดายว่าหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาล ห้ามเลือดก็ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งกรณีที่เสียชีวิตเพราะเสียเลือดมากจากการถูกยิงเข้าที่แขน ขา อยู่ที่ 20%

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ รองผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า เวลาไปในที่ชุมชนตนอยากจะขอให้ประชาชน ให้ความสนใจกับสิ่งรอบข้างบ้าง หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น เสียงดัง “ปัง” แม้ว่าจะเป็นเสียงปะทัดก็ขอให้สังเกต อาจจะเป็นเสียงปืน และดูผู้คนว่ามีเสียงหวีดร้อง แตกตื่นหรือไม่ หากได้ยืนเสียงปังมาจากทิศทางเดียวอาจจะมีคนก่อเหตุ 1 คน หากเสียง “ปัง” หลายครั้งในหลายทิศทางอาจจะมีการต่อสู้กัน เมื่อเป็นแบบนี้เราต้องรู้ว่าจะหนีไปทางไหน หลักการคือ “หนี ซ่อน สู้” คือหนีไปจากสถานการณ์ไปซ่อนตัวในที่ปลอดภัย อย่าห่วงข้าวของ ปิดไฟมืด ปิดเสียงโทรศัพท์ ล็อคประตู ใช้ของหนักขวางไว้ แอบหลังโต๊ะ ตู้ที่แข็งแรง เมื่อเราปลอดภัยแล้วประเมินว่าเราสามารถช่วยคนอื่นได้หรือไม่ ทั้งนี้ กรณีกราดยิง อาจจะเคียดแค้นสังคม จะมีลักษณะการเก็บแต้ม ฆ่าให้เรียบ ให้ได้เยอะที่สุด ดังนั้นประชาชนหลบหนีอย่าไปกระจุกตัว หากมีการกระจุกตัว แล้วคนร้ายเห็นจะเลือกกลุ่มที่มีจำนวนคนเยอะ

ด้าน ผศ.นพ.กฤตยา กฤตยากีรณ ศัลยแพทย์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า ในสถานการณ์อันตรายเราต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน จากนั้นขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ และหากสถานการณ์ปลอดภัยมากขึ้นก็พยายามช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งสิ่งที่ประชาชนทำได้อย่างน้อยๆ คือการห้ามเลือดในจุดที่ไม่อันตราย เช่น ช่วยคนถูกยิงที่แขน ขา โดยต้องหาแผลให้เจอ หากแผลเล็กให้ใช้มือ 2 ข้างอุดที่ปากแผลให้แน่นรอจนกว่าจะมีผู้มาช่วยเหลือ หากแผลขนาดใหญ่ ให้ใช้ผ้าสะอาดที่พอหาได้ยัดไปที่บาดแผลและใช้มือทั้ง 2 ข้างกดทับ ทั้งนี้เพื่อทำให้เส้นเลือดหดตัว และเลือดหยุดไหล อย่างไรก็ตาม ห้ามกดแล้วยกออกเพื่อดูแผลเพราะจะทำให้เลือดพุ่งทะลัก ซึ่งทุกครั้งที่เอามือออกจะทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดได้มากถึงครั้งละ 1 ลิตร และเสียชีวิตได้ อย่าใช้ทิชชูเพราะจะทำให้เปื่อยไปกับแผล ทั้งนี้ที่สหรัฐฯ มีการสอนประชาชนปฐมพยาบาลห้ามเลือดพบว่าช่วยลดการเสียชีวิตจากการเสียเลือดได้มาก

ผศ.นพ.ณัทธร ทิพย์เสถียร จิตแพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจะมีการส่งข้อมูลไปยังสมอง 2 ส่วนคือสมองส่วนของความกลัว และสมองส่วนคิด แต่ทั้ง 2 ส่วนจะได้รับข้อมูลไม่พร้อมกัน โดยในส่วนของความกลัวจะได้รับก่อน ทำให้คนมีปฏิกิริยาสะดุ้ง ผวา เร็วกว่าประมาณครึ่งวินาที ก่อนที่สมองส่วนประมวลผลจะทำงาน แต่การตื่นเต้นจะอยู่สักระยะ แต่หากความรุนแรง เกิดขึ้นต่อเนื่อง สมองส่วนความกลัวจะถูกกระตุ้นตลอด ทำให้สมองส่วนคิดทำงานไม่ทัน ทำให้คนตื่นกลัว ภาวะระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เริ่มเหงื่อออก เป็นภาวะตื่นตัวอย่างมาก และสภาวะการรับรู้เริ่มแปรปรวน เริ่มมึนงง ไม่รับรู้รอบข้าง บางคนสติหาย ลืมเหตุการณ์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เวลาอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัว

ผศ.นพ.ณัทธร กล่าวต่อว่า ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมีคือสติ เอาความเป็นตัวเองกลับมา โดยใช้หลักการกำหนดลมหายใจ ในสถานการณ์ตึงเครียด หายใจเข้าลึกๆ และพ่นลมออกมาโดยหายใจออกนานกว่า เพราะเวลาเราตื่นเต้นแล้วเราจะหายใจเร็วขึ้น เมื่อทำให้การหายใจให้ชาลงจะค่อยๆ สงบลง ส่วนการทำให้จิตใจที่ล่องลอยกลับมาสู่ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัส ก็ลองหันไปดูรอบๆ ตัว มีคนกี่คน หญิง ชาย กี่คน เอามือไปสัมผัส สังเกตผิวสัมผัส และคิดตาม เท้าเหยียบพื้น ผิวสัมผัสเป็นอย่างไร หากเบลอมากก็เหยียบแรงๆ นี่เป็นการเรียกสติให้กลับมาปัจจุบัน เมื่อร่างกายสงบลง สมองส่วนคิดได้ถึงจะกลับมา และจะเริ่มประมวลสถานการณ์ จำนวนคน ทางออกจากเหตุการณ์นั้นๆ

สิ่งเหล่านี้เราสามารถฝึกฝนได้จากการนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจ การเล่นโยคะ สามารถทำได้ต่อเนื่องเวลาเกิดต้องเผชิญเหตุความรุนแรงก็จะเรียกสติได้เร็ว ลกความตื่นตระหนก จึงอยากให้ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นอกจากนี้การซ้อมแผนเผชิญเหตุความรุนแรงต่างๆ อย่างสม่ำเสมอก็ช่วยให้เราหาทางออกได้เร็ว เพราะเหมือนกับว่าเราคุ้นชินกับสถานการณ์ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช้ซ้อมแผนแผนไป ยิ้มหัวเราะไป อย่างไรก็ตาม หลังต้องเผชิญเหตุการณ์ที่เลวร้ายมา ต้องได้รับการดูแลสภาพจิตใจที่เหมาะสม เพราะบางคนอาจจะมีภาวะเครียดรุนแรงหลังเหตุการณ์ (PTSD) หากไม่ได้รับการดูแลอาจจะทำให้ป่วยทางจิตเวชเรื้องรังได้ ซึ่งเราพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า และการใช้สารเสพติด ทั้งนี้การรักษา PTSD มีหลายวิธี อาทิ จิตบำบัด การใช้ยารักษา เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง