ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” โทรทางไกล โต้ต่างชาติงุบงิบตัวเลขคนป่วยโรคโควิด-19 ยัน สธ.ไม่ทีทางโกหกคนไทย 70 ล้านคน แฉนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญเวสเตอร์ดัม ลอบบินสายการบินโลว์คอสต์เข้าไทย ตม.สกัด ส่งกลับกัมพูชา

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กรมควบคุมโรค เวลา 13.40 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. สาธารณสุข ได้ video call มาจากประเทศสวีเดน เพื่อหารือและมีข้อสั่งการกับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรคโดยได้มีการพูดคุยกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และทีมผู้บัญชาการศูนย์ฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยนายอนุทินได้มีการกำชับให้กระทรวงสาธารณสุขตอบโต้สถานการณ์ข่าวลือข่าวลวงบนโลกอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวสารที่กระทรวงสาธารณสุขได้สื่อสารออกไปซึ่งมีการแถลงทุกวันอยู่แล้ว

สำหรับกรณีที่มีนักวิชาการต่างชาติออกมาระบุถึงการไม่เชื่อมั่นมาตรการเฝ้าระวังควบคุมไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมามากเป็นอันดับหนึ่ง แต่กลับมียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริงมาก นายอนุทิน กล่าวว่า จะมีประโยชน์อะไรกับการปกปิดข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่เราได้ทั้งหมดทุกวันนี้ก็ได้มาจากการปฏิบัติงานจริง เราเป็นประเทศแรกที่เจอผู้ป่วยนอกประเทศจีนและมาตรฐานของเราก็ดีอยู่แล้ว เราต้องรักษามาตรฐานของเราเอาไว้ ทั้งนี้การปิดข้อมูลยิ่งจะมีแต่ทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น เพราะฉะนั้นไม่มีตรรกะไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น เราไม่มีทางที่จะโกหกประชาชน 70 ล้านคน เรื่องนี้สำคัญ ซึ่งคนที่พูดว่าไม่มั่นใจนั้นไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าเราทำงานกันอย่างไร อย่างไรก็ตามตนย้ำเสมอจำนวนผู้ป่วยไม่ใช่ตัวสะท้อนประสิทธิภาพ แต่จำนวนการรักษาให้หายและควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดต่างหากที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพที่ดี ทั้งนี้ตนก็ยังอธิษฐานให้ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดหรือจำนวนผู้ป่วยน้อยหรือขอให้อยู่ในลำดับบ๊วย

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา พบผู้โดยสารชาวต่างชาติที่ เป็นผู้โดยสารมากับเรือเวสเตอร์ดัมพยายามที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยสารมากับเครื่องบิน low cost ต่างประเทศ มาที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไม่อนุญาตให้เข้าประเทศและผลักดันกลับไปยังประเทศต้นทางที่เดินทางมาตั้งแต่แรกคือกัมพูชา อย่างไรก็ตาม คงยังไม่มีการดำเนินมาตรการอะไรกับสายการบินนี้เพราะเป็นสายการบินเล็ก ๆ ที่อาจจะยังไม่ได้รับทราบข้อมูลหรือมาตรการสั่งห้ามผู้โดยสารจากเว็บตามเข้าประเทศแต่ก็จะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากการหารือร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนในหลักการเพื่อความปลอดภัยเห็นด้วยว่าจะไม่อนุญาตให้เที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้ามายังประเทศไทยจนถึงปลายเดือน ก.พ.นี้.