ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ปรับแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในโรงพยาบาล สำหรับแพทย์บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สถานการณ์ในประเทศยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19

นพ.โสภณ กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย ไม่มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม ยังคงมี 35 รายเท่าเดิม รักษาหายกลับบ้านแล้ว 17 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาล 18 ราย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับแพทย์บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้คัดกรองผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หากพบมีไข้ร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจ และในช่วง 14 วันก่อนเริ่มมีอาการ ได้เดินทางไปพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่อง หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่อง รวมทั้งมีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยัน จะส่งไปคลินิกไข้หวัด (Fever & ARI clinic) ซึ่งได้จัดตั้งเป็นคลินิกจำเพาะ โดยผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ชุดป้องกันตนเองตามความเหมาะสม ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เอกซเรย์ปอด รวมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจ และหากตรวจพบเชื้อจะรับไว้ในห้องแยกความดันลบของโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ได้เพิ่มการเฝ้าระวังในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรงที่หาสาเหตุไม่ได้ จะนำเข้าสู่การวินิจฉัยและตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยได้ตั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงานจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สถาบันบำราศนราดูร รพ.ราชวิถี สถาบันโรคทรวงอก รพ.นพรัตน์ราชธานี รพ.เลิดสิน เพื่อให้คำปรึกษาแก่แพทย์และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในกรณีที่มีข้อสงสัยแนวทางเวชปฏิบัติ

สำหรับกรณีนักวิชาการด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 น้อยกว่าที่คาดไว้เมื่อพิจารณาจากการเดินทางทางอากาศ นั้น รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยประชาชน สนับสนุนงบประมาณ และสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีรายงานการระบาดจากคนสู่คน ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มการคัดกรองทุกสนามบินที่มีเที่ยวบินตรงมาจากเมืองที่มีการระบาด เมื่อวันที่ 8 มกราคม ตรวจพบผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีนรายแรกของโลกจากการคัดกรองที่สนามบิน และแจ้งประชาชนทราบทันทีที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันเชื้อตรงกับประเทศจีน

ต่อมาขยายการคัดกรองทุกช่องทางเข้าออกประเทศ ทำให้ประเทศอื่น ๆ ตื่นตัว เริ่มคัดกรองเช่นเดียวกับไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่ง ศ.นพ.ลินคอล์น เซน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศและอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวชื่นชมมาตรการของไทย กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ไทยยิ่งกว่าพร้อมในการรับมือปัญหาโรคระบาดหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในช่วงต้นไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีนและผู้สัมผัสใกล้ชิด เมื่อจีนประกาศห้ามเดินทางออกนอกประเทศทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงอย่างมาก จำนวนผู้ป่วยจึงลดลง อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายการคัดกรองในกลุ่มคนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว เพิ่มการคัดกรองผู้เดินทางในประเทศอื่น ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วย และพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่งผลให้ตรวจพบผู้ป่วยคนไทยซึ่งไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงสามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และยังไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม

“จากการที่เรารู้เร็ว ป้องกันเร็ว ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้ตื่นตัวเร็วและให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอย่างเข้มข้น จากการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งขนส่งสาธารณะ ร้านค้า สถานประกอบการ รวมทั้งประชาชน ร่วมมือปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคตามคำแนะนำ จนได้รับคำชื่นชมจากต่างชาติ” นพ.โสภณ กล่าว