ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตือน หากไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงโรคโควิด-19 อย่าจัดงานอีเวนท์และชุมนุม ชี้ไม่ใช่เวลาเหมาะ จะทำให้ไวรัสแพร่เชื้อได้ง่าย กิจกรรมบางอย่างหากชะลอได้ก็ควรชะลอไป พร้อมระบุสถานการณ์น่าห่วงในหลายประเทศ ล่าสุดพบอิตาลี แต่หากจำเป็นต้องจัดต้องมีการคัดกรองที่เข้มข้น

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2563 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19ในประเทศไทย ว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกขณะนี้ พบว่า มีประเทศรับผลกระทบเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งจีน ฮ่องกง มาเก๊า ไทเป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ล่าสุดเจอที่อิตาลี เพิ่งพบผู้ป่วยกลุ่มก้อนที่มากพอสมควร ขณะนี้เริ่มจับตามองประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด โดยไทยเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเรามีความเสี่ยงเจอผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ คำตอบ คือ ใช่ และเรากำลังเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น แต่การเดินทางไปประเทศกลุ่มนี้ก็ต้องบอกว่า เมื่อมีการแพร่ระบาดในประเทศหรือพื้นที่มีการแพร่ระบาดก็มีความเสี่ยงติดโรคกลับมา

“ดังนั้น คนที่จะเดินทางไปประเทศเหล่านี้ ขอให้ตรวจสอบก่อนว่า ประเทศที่จะเดินทางไปมีรายงานผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเดินทางไปประเทศหรือเมืองที่มีการแพร่ระบาดก็มีความเสี่ยง หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่หากจำเป็นต้องไป ก็ไม่ได้ห้ามเพียงแต่ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ไม่ไปสถานที่แออัด ชุมชน หรือหากไปในพื้นที่ปิด แนะนำสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และเมื่อกลับมาสู่ประเทศไทยแล้วก็ต้องผ่านการคัดกรองที่สนามบิน และขอความร่วมมือหากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก กรุณาแจ้งแพทย์ทันที และป้องกันบุคคลใกล้ชิดอาจติดเชื้อ ขอย้ำว่า ไม่มีนโยบายห้ามหรือกักกันแต่อย่างใด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้นเป็น 1,252 ราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นก็เป็นผลมาจากการเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวัง เพิ่มจำนวนประเทศขึ้นเรื่อย ๆ และวันนี้เพิ่มในส่วนของเกาหลีใต้ และหากอิตาลีไม่สามารถควบคุมได้ ก็ต้องเพิ่มเข้าไปอีก ดังนั้น ขณะนี้ สธ.เฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางอย่างเข้มข้น และเฝ้าระวังในประเทศ โดยขยายนิยามการเฝ้าระวังในพื้นที่ 8 จังหวัดที่เดิมมีนักท่องเที่ยวเอเชีย จีนมาก คือ เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ และชลบุรี ซึ่งมาตรการตรงนี้จะทำให้ตรวจพบผู้เข้าข่ายหรือผู้ที่สงสัยป่วยโดยเร็ว และลดการแพร่เชื้อในประเทศ และทำให้เราอยู่ในภาวะที่มีผู้ป่วยน้อย ๆ ได้ยาวนานออกไป

“ความเสี่ยงภายในประเทศจึงถือว่ายังต่ำมาก โอกาสติดเชื้อจากการเดินไปเดินมายาก แต่ความเสี่ยงของประเทศก็ถือว่าค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เพราะประเทศต่าง ๆ เริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้น และจะเจอจากการเดินทางมากขึ้น เราจึงต้องควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้คงสถานะนี้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้” นพ,ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดงานกิจกรรมหรืออีเว้นท์ใหญ่ หรือการชุมนุมทางการเมือง จะเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การรวมตัวกันของคนจำนวนมากก็เพิ่มความเสี่ยงอย่างชัดเจน ก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะจัดการความเสี่ยงได้หรือไม่ จริง ๆ ความเสี่ยงสูงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ว่าเราจะจัดการความเสี่ยงได้หรือไม่ อย่างแพทย์ที่ต้องเดินเข้าห้องแยกโรคดูแลผู้ป่วย เขาเสี่ยงสูงมาก แต่เขาจัดการป้องกันความเสี่ยงได้ ดังนั้น หากในสถานที่ชุมนุมหรือการรวมตัวกันคนจำนวนมาก ย่อมมีความเสี่ยง เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีคนติดเชื้อหรือไม่ แต่หากการรวมตัวกันไม่มีผู้ป่วยเข้าไปเลย ความเสี่ยงก็จะเป็นศูนย์

ดังนั้น หากใครมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ คล้ายเป็นหวัด ไม่ว่าอาการอย่างไร ต้องไม่ออกไป ขณะเดียวกันผู้จัดต้องบริหารจัดการทุกวิธี โดยคัดกรองคนที่มีไข้ไอ เจ็บคอ ออกจากบริเวณงาน อย่างการจัดการอีเว้นท์ขนาดใหญ่ในต่างจังหวัด เวลาคนไปรวมตัวกัน ไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ แต่ยังรวมตัวกันในจังหวัดก่อนงานเริ่ม ดังนั้น สำหรับวันงานก็ต้องมีการคัดกรอง ต้องมีการแจกหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างทั่วถึง ซึ่งต้องทำทั้งผู้ร่วมงาน ผู้ไปดู และผู้ที่ไปดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น คนขายของ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยว หรือคนที่จะไปร่วมงานในจังหวัด ทั้งสถานที่ที่มีคนมารวมตัวกัน ก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูว่ามีผู้มีอาการเข้ามาหรือไม่ หลักการคล้ายการเฝ้าระวังทั่วไป แต่นี่คือการเฝ้าระวังในชุมชน

“ในเรื่องการชุมนุม หากไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงก็อย่าจัดเลย ไม่ใช่เวลาที่เหมาะ และจะเป็นการสนับสนุนไวรัสในการแพร่เชื้อโดยง่าย หากจะจัดก็มีหลายวิธีในการแสดงความคิดเห็นตรงนี้ หากทำได้ผมอยากให้ทำทางอื่น หากมองในมุมมองทางการแพทย์ ไม่ใช่เวลาเหมาะสม เพราะสุขภาพของผู้คนสำคัญที่สุด กิจกรรมบางอย่างหากชะลอได้ก็ควรชะลอไป และถ้าใครมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อย่าเพิ่งไปเลย ส่วนคนจัดกิจกรรมก็คำนึงถึงสุขภาพคนอื่นด้วย โดยต้องมีการคัดกรองไม่แตกต่างจากงานกิจกรรมอื่น เพราะคนจัดต้องรับผิดชอบกับสุขภาพของคนอื่น ๆ ด้วย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว