ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คาดสามารถขยายสู่การผลิตวัคซีนเพื่อใช้ได้จริงภายใน 1-2 ปี

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก ทำให้หลายประเทศมีความสนใจในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในรูปแบบวัคซีนดีเอนเอ และวัคซีนเชื้อตายนี้อย่างเร่งด่วน โดยส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการแยกเชื้อจากผู้ป่วย จัดตั้งคลังตัวอย่างชีวภาพจากซีรั่มและตัวอย่างอื่น ๆ เพิ่มจำนวนเชื้อ และพัฒนาการผลิตแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อโดยเทคนิค recombinant DNA รวมทั้งพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพวัคซีน นอกจากนี้ยังพร้อมให้ความช่วยเหลือในการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันภายหลังจากฉีดวัคซีนในสัตว์ทดลอง เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีน โดยมีเป้าหมายดำเนินการขั้นตอนทดสอบวิธีในห้องปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งหากเป็นไปตามที่วางแผนไว้จะสามารถขยายสู่การผลิตวัคซีนเพื่อใช้ได้จริงภายใน 1-2 ปี

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ของโรคขณะนี้ ต้องอาศัยการบูรณาการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อรับมือกับการระบาด นอกจากการเฝ้าระวัง คัดกรอง และ ควบคุมโรคแล้ว การป้องกันโรคด้วยวัคซีนก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ และประชาชนมีความปลอดภัยจากโรคได้ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักวิจัยของไทย มั่นใจอย่างยิ่งว่าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะประสบผลสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ใช้ในอนาคตอันใกล้นี้