ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ มติเป็นเอกฉันท์ ประกาศ COVID -19 เป็นโรคติดต่ออันตราย อนุทิน แจง สธ.ใช้นโยบายรับมือบวก 1 หากสถานการณ์อยู่ในระยะที่ 2 จะใช้มาตรการป้องกันระดับ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าเราอยู่หน้าสถานการณ์ไม่ใช่วิ่งไล่ตาม

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วาระการพิจารณาออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยมีกรรมการ 30 คน และมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน โดยใช้เวลาประชุมตั้งแต่เวลา 14.30 น. ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ลำดับที่ 14 และจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

โดยนายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงสาธารณสุข คนทำงานทุกคนใช้นโยบายการรับมือสถานการณ์นี้ในเชิงบวก 1 คือหากสถานการณ์อยู่ในระยะที่ 2 แล้วก็จะใช้มาตรการป้องกันระดับ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าเราอยู่หน้าสถานการณ์ไม่ใช่วิ่งไล่ตาม ดังนั้นการประกาศให้ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ไม่ใช่ว่าเราเอาไม่อยู่ แต่เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรคนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะยังกังวลว่าจะติดข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ จึงต้องหามาตรการให้คนทำงานมีความมั่นใจ ยกตัวอย่างสมมติว่าจำเป็นต้องกักตัวใครหนึ่งคน 14 วันถ้าไม่มีประกาศโรคติดต่ออันตรายก็จะได้แค่ขอความร่วมมือและวันดีคืนดี ถ้ามีคนที่เป็น Super Spreader แบบที่เกาหลี จาก 1 ก็ติดเป็นร้อยคน ก็จะออกมาปฏิเสธหากถูกจำกัดอิสระ จะมีมูลนิธิหัวหมอมาหาว่าเราจำกัดอิสรภาพ ดังนั้นเราจึงทำตามสถานการณ์

"วันนี้เราไม่ได้สู้กับไวรัสโคโรนาอย่างเดียว แต่ยังเหนื่อยกับข้อความที่แชร์กันมาจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ให้ร้ายก็มี ซึ่งเป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจของคนทำงานมาก อย่างวันนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศคงที่มาสักระยะก็มีคนมาบอกว่าโกหก ประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทยยังมีมากกว่านี้เราผิดอะไรหรือไม่ คำพูดเหล่านี้มันบั่นทอน ที่เราทำมาถึงทุกวันนี้ได้บารมีได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ นักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ มาช่วยกันแต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความกดดันทางสังคมทาง Social Media ได้" นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรคติดต่ออันตราย 13 โรค ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6. โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก.