ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.แจง ผู้ป่วยจีนถูกลอบพาเข้ารักษาที่ รพ.แม่สอด ผลเป็นลบ เตือนเสี่ยงสูงหากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จริง ปัดตอบบทลงโทษ “ปลัด สธ.” ถก พร้อมประสานฝ่ายปกครองคุมเข้ม ย้ำสถานการณ์ตอนนี้ต้องระวังทั้งคนนอก และคนในประเทศ ด้าน “กรมการแพทย์” เตรียม 4 รพ.ใหญ่ รับระบาดวงกว้างใน กทม. ลั่นไทยยังไม่ประกาศเข้าการระบาดระยะ 3 แต่จะยกเป็นโรคติดต่ออันตราย

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่ายังมีผู้ป่วยสะสมที่ 35 รายรักษาหาย 21 ราย ยังรักษาใน รพ. 14 ราย ไม่มีไข้แล้ว รอผลตรวจเป็นลบก็จะให้ออกจาก รพ.ได้ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักในรายที่ใส่เครื่องช่วยการพยุงการทำงานของปอดนั้นตอบสนองต่อการรักษาดี ส่วนรายที่มีวัณโรคร่วมด้วยมีการตอบสนองต่อการรักษาดีเช่นกัน สามารถหายใจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามทีมแพทย์ยังต้องให้การดูแลใกล้ชิด สำหรับมีผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามารักษาที่ รพ.แม่สอดนั้นผลการตรวจแล็บ 2 แห่งออกมาเป็นลบ ส่วนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.– 22 ก.พ. 1,453 ราย ให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,121 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาใน รพ. 332 ราย

“ในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อพิจารณาประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 แต่ยืนยันว่าไม่มีการพิจารณาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดของไวรัสโคโรนาในระยะที่ 3” นพ.รุ่งเรือง กล่าว และว่า สำหรับประชาชนที่กังวลอยากจะไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนานั้น การเดินทางไป รพ.ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง โดยในการตรวจหากเป็น รพ.เอกชนต้องจ่ายเงินเอง หากไม่อยากเสียเงินให้ไปรพ.ของรัฐ ซึ่งจะมีระบบการคัดกรองให้คำปรึกษาว่าเป็นคนที่เสี่ยง ควรได้รับการตรวจหรือไม่ ซึ่งในการให้คำปรึกษานั้นบริการให้ฟรี ถ้าจำเป็นต้องตรวจก็ตรวจฟรี แต่ถ้าไม่จำเป็น แต่ยังอยากตรวจอาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่าแม้ผลแล็บผู้ป่วยชาวจีนที่ รพ.แม่สอด จะเป็นลบ แต่ถ้าดูตามช่องทางที่เข้ามาพบกระบวนการคนไทยกลุ่มหนึ่งรับจ้างพาเดินทางมาทางเรือ และเข้าทางช่องทางธรรมชาติ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อระบบเฝ้าระวังโรค เพิ่มความเสี่ยงของคนในพื้นที่และผู้ทำงานสาธารณสุขทำงานยากขึ้น จะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า เป็นมาตรการที่เราต้องสะท้อนกลับไปว่าต้องทำให้เข้มข้นขึ้น ดีขึ้น ซึ่งพรมแดนธรรมชาติเป็นส่วนที่คนสามารถเดินทางข้ามมาได้ แต่สิ่งสำคัญคือการทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งด้านความมั่นคง และประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญหากคุณพาข้ามมารักษาที่ รพ. ซึ่งเป็นตะแกรงขั้นที่ 2 แล้ว ถ้าคนที่พามาเข้ามาเกิดติดเชื้อจริง คนที่เป็นคนพามาถือเป็นคนสี่ยงสูงมากที่ต้องถูกติดตามเช่นกัน ทั้งนี้เมื่อช่วงเช้า มีการประชุมคณะกรรมการที่มีปลัดกระทรวงเป็นประธาน และเน้นย้ำเรื่องนี้มาก มีการประสานงานและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางมหาดไทย ปกครอง ตอนนี้ประสานขึ้นเรื่อย ๆ พยามปิดพรมแดนธรรมชาติ

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหากประกาศให้ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว คนที่ลักลอบนำคนจากพื้นที่เสี่ยงเข้าประเทศเช่นนี้จะมีโทษอย่างไร นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติก่อน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ตามด่านพรมแดนจะมีบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศุลกากร เฝ้าระวังตามด้าน ซึ่งพยายามให้คนเข้าออกผ่านด่านถาวรอยู่ นาน ๆ ทีที่ไม่ได้เข้าทางช่องทางถาวร แต่ทุกภาคส่วนพยายามร่วมมือกันอย่างดี ทั้งนี้ หลังปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคเพิ่มเติมทำให้มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง เพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ราย ซึ่งยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม นอกจากนี้ยังได้นำประสบการณ์การแพร่ระบาดที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่พบว่ามีผู้ป่วยหญิง 1 ราย ที่ป่วยแล้วไปแพร่เชื้อที่โบสถ์ และสถานที่ต่าง ๆ มาปรับใช้กับในประเทศไทย ซึ่งยังไม่พบสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันแต่ก็เฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในการจะเข้าสู่การระบาดที่ 3 หรือระยะที่คนไทยติดเชื้อจากคนต่างประเทศ และแพร่เชื้อให้กับคนในประเทศตัวเอง เป็นไปตามสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องประกาศ อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังตอนนี้ของไทยต้องเฝ้าระวังทั้งคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังคนในประเทศเอง เพราะก่อนหน้านี้ที่มีผู้ป่วยต่างชาติ 25 คนนั้น เขามาอยู่ในไทยเดือนกว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อในคนไทยด้วยก็ได้ จึงต้องค้นหากให้เจอ

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันนี้สถานการณ์ในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ปฏิสัมพันธ์ในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องมีการย้ำมาตรการเฝ้าระวังโรคใน รพ.เพิ่มมากขึ้น 1. การคัดแยก คัดกรองผู้ป่วยระบบทางเดินหายในออกกจากผู้ป่วยโรคอื่น ๆ 2.ปรับเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยให้เร็ว และกว้าง ต้องมีการฝึกซ้อม รพ.ทุกสังกัดเตรียมรับมือสถานการณ์ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทั้งนี้เราได้เตรียมสถานที่ บุคลากร และเครื่องมือที่พร้อมปฏิบัติงานภายใน 48 ชั่วโมงหากพบสถานการณ์ระบาดระดับ 3 โดยมาตรการก็อยู่ที่ว่าจะเจอผู้ป่วยมากแค่ไหน เบื้องต้น เตรียม รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ได้เตรียม รพ.ราชวิถี, รพ.นพรัตน์, รพ.เด็ก, และสถาบันบำราศนราดูร เพื่อรองรับถ้ามีเคสเพิ่มประมาณ 30-40 คน เช่นที่สถาบันบำราศ ส่วน รพ.สังกัด กทม.อื่น ๆ และโรงเรียนแพทย์จะเตรียมการในระยะต่อไป