ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์แนะ หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยเป็นโรคโควิด-19 มีประวัติเคยไปประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือใกล้ชิดกับคนที่เคยเดินทางไป ให้โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือไปรักษาพยาบาล รพ.ตามสิทธิการรักษาที่มี ไม่เสียค่าใช้จ่าย กระทรวงสาธารณสุขเตรียมงบประมาณรองรับไว้

เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นข้อกังวลตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ใน รพ.เอกชนมีราคาแพง ทำให้คนอาจวิตกไม่กล้าไปตรวจเชื้อเมื่อมีอาการสงสัยป่วย ว่า ไม่ต้องกังวล เพราะจริง ๆ แล้วหากเข้าข่ายป่วยหรือสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สามารถรับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามสิทธิรักษา แต่ในกรณีของประชาชนที่ไม่ได้เข้าข่าย หรือไม่เคยมีประวัติคลุกคลีกับผู้ที่เสี่ยง หรือเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่กังวล ประกอบกับมีอาการไข้ ไอ ก็ให้อยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปทำงาน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องแยกอยู่คนเดียวห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ควรใส่หน้ากากอนามัยชนิดจริง ๆ ไม่ใช่ทำจากผ้า เพราะถือว่าขณะนี้ตนเองเป็นคนปล่อยเชื้อได้ แยกจานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ

“แม้แต่เมื่อเข้าห้องน้ำ ถ้าอยู่บ้านหรูหรา ก็ยึดห้องน้ำหนึ่งห้องไปเลย แต่ถ้าเราเป็นคนธรรมดาต้องใช้ห้องน้ำรวม รอให้คนอื่นเข้าจนเสร็จก่อนและเข้าคนสุดท้ายและจัดการทำความสะอาดทุกสิ่งอย่างในห้องน้ำด้วยน้ำกับสบู่ หรือที่แน่นอนคือ น้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งอ่างน้ำ ก๊อก ชักโครก ลูก บิดประตู โดยการเก็บตัวให้เป็นไปตามมาตรฐาน คือ เฝ้าระวัง 14 วัน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่ไปโรงพยาบาลแล้วถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง ค่ารักษาหรือค่าตรวจเชื้อปัจจุบันราคาเท่าไหร่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จริง ๆ ค่ารักษานั้น หรือค่าตรวจ มีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ค่าตรวจเชื้อ แต่ยังหมายถึงค่าที่เจ้าหน้าที่ต้องสวมชุดปลอดเชื้อ ไปเก็บเชื้อจากตัวบุคคลนั้น ๆ ซึ่งแต่ละครั้งไม่สามารถใส่ชุดเดิมได้ ส่วนการตรวจหาเชื้อว่า เป็นบวกหรือเป็นลบนั้น ก็จะขึ้นอยู่ว่า เป็นการตรวจหารหัสพันธุกรรมท่อนไหน อย่างการตรวจหายีน 3 ท่อน ต้องตรวจทั้งหมด หรือตรวจยีนตัวใดเป็นพิเศษ แต่หลัก ๆ การตรวจลักษณะนี้จะเป็นชุดทดสอบ โดยแต่ละครั้งจะราคาประมาณ 2,500 บาทขึ้นไป ซึ่งการตรวจก็ไม่ใช่ว่าจะตรวจแค่ยีนเดียว แต่ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่มีการระบุว่า ควรต้องตรวจยีนท่อนไหน

การตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ก็จะมีการตรวจเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้นก็จะตรวจซ้ำหรือขึ้นอยู่กับกรณี เช่น หากตรวจได้ 2 ยีนในครั้งแรกปรากฎว่าผลเป็นบวก ก็ยืนยันได้ หรือหากตรวจ 2 ห้องปฏิบัติการ และใช้การตรวจคนละวิธี แต่ได้ผลเป็นบวกเหมือนกัน ก็ยืนยันได้เลย แต่หากผลเป็นลบในครั้งแรก ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ว่า หากยังสงสัยก็สามารถส่งตรวจได้อีกรอบ” ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพฯ กล่าว

แหล่งข่าวจากแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า จริง ๆ แล้วหากเป็นกลุ่มที่เข้าข่ายสงสัยเป็นโรคโควิด-19 คือ มีอาการไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจเหนื่อยหอบ ถ่ายเหลวท้องเสีย แน่นหน้าอก รวมทั้งมีประวัติการเดินทางไปประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือใกล้ชิดกับคนที่เคยเดินทางไปประเทศที่ประกาศเป็นประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ฯลฯ ให้โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือหากไปรับบริการเองต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ

“ที่สำคัญต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิรักษา ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ซึ่งหากไปโรงพยาบาลตามสิทธิ จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากไปโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องเสียค่าบริการ อย่างไรก็ตาม หากค่ารักษาแพงจนเกินไปสามารถร้องมาได้ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) หรือโทร Call Center 02-193-7000 เพื่อเข้าตรวจสอบเรื่องนี้” แหล่งข่าวกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมงบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้แก่ รพ.ที่ตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจะใช้งบในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่จำนวนเท่าไหร่ยังอยู่ที่การพิจารณา คาดว่าจะแยกงบดังกล่าวออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวตามปกติ ซึ่งเป็นงบพิเศษกรณีโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ