ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พบไกด์ไทย นำเที่ยวเกาหลี ติดโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เร่งตามตัวคนสัมผัส รวมผู้ป่วยสะสม 41 รายพร้อมเผยข่าวดีรักษาหายเพิ่มอีก 1 ราย ขณะที่ 2 ผู้ป่วยอาการรุนแรง ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังมีโรคแทรก รอฟื้นตัว วอนคนไทย อย่าตระหนก รังเกียจ ตีตรา ทำคนเสี่ยงปกปิดข้อมูล

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข เวลา 11.00 น. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยหายเพิ่มอีก 1 รายเป็นนักท่องเที่ยวจีนกลับบ้านเรียบร้อยแล้ว ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งติดเชื้อก็หายกลับบ้านแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามวันนี้ (28 ก.พ.) พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 1 รายชายไทยอายุ 25 ปีเป็นคนนำเที่ยวในประเทศเกาหลีใต้ เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ด้วยอาการไข้ ไอ ขณะนี้รักษาอยู่ที่สถาบันบําราศนราดูร ติดตามคนสัมผัสใกล้ชิด ได้ 2 ราย ส่วนเพื่อนร่วมทัวร์ และผู้สัมผัสบนเครื่องบินอยู่ระหว่างการติดตาม ส่วนผู้สัมผู้ป่วยรายที่กลับจากฮอกไกโด ที่ยังเหลืออีก 4 รายนั้น ผลตรวจเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อ ดังนั้น สรุปผู้ป่วยสะสมในประเทศเพิ่มเป็น 41 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 28 ราย ยังรักษาใน รพ. 13 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย ขณะนี้ผลตรวจร่างกายไม่พบเชื้อแล้วอยู่ระหว่างการพักฟื้นร่างกายแข็งแรง

สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. – 27 ก.พ. 2,437 ราย ให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,446 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 991 ราย เฉพาะวันที่ 27 ก.พ. มี 300 กว่าราย ย้ำว่าผู้เข้าเกณฑ์ฯ ยังไม่ใช่ผู้ป่วย และไม่ใช่ทุกคนจะป่วยติดเชื้อยืนยัน ดังนั้นขอให้อย่ารังเกียจผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด อย่าดูถูกล้อเลียนจะทำให้กลุ่มนี้ไม่กล้าแสดง และถ้าไม่แสดงตัว ไม่พูดความจริงหากติดเชื้ออาจจะเสี่ยงอาจจะทำให้เกิด Super Spreader ได้ดังนั้นหากมีอาการเจ็บป่วยก็ให้รีบมาโรงพยาบาล

ที่สำคัญวันนี้คือการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยได้ในการ MOU ร่วมกันของหน่วยงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และบริษัทเอกชน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในห้วงสัปดาห์นี้จะมีสิ่งที่เห็นชัดอยู่ 6 ประเด็น 1.เรายังคงอยู่ในระยะที่ 2 และพบผู้ป่วย พบทั้งผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยชาวไทย ที่ยังคงเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ 2.ผู้ป่วยรายหลังๆ ก็มาจากประเทศที่เราเตือนอยู่แล้วคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดังนั้นจึงย้ำกับประชาชนเรื่องการงดการเดินทาง หรือหลีกเลี่ยงไปประเทศที่มีความเสี่ยง เพราะเหตุการณ์ผู้ป่วยนั้นบ่งชี้ชัดเจนว่าการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงมีโอกาสที่จะเป็นโรคกลับมา 3.ย้ำกลับมาแล้วต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะทำตามต่อให้ติดโรคมาก็ติดแค่คนคนนั้นจะไม่ติดไปดูคนอื่น ลดการติดเชื้อในประเทศ

4.มีความแตกต่างว่ามีรายที่เริ่มมีอาการเห็นชัดก็จะมา รพ. แต่มีบางรายที่มีอาการแต่กลับยังไม่มา ซึ่งก็จะสืบเนื่องมาที่ประเด็นที่ 5.คืออย่าปิดข้อมูล ซึ่งการปิดข้อมูลส่วนใหญ่เกิดจากสังคมไม่เข้าใจ และแตกตื่น จนเกิดการรังเกียจ ตีตรา บางคนยังไม่มีอาการก็แสดงอาการรังเกียจออกนอกหน้าทำให้คนที่เข้าข่ายแบบนี้มีการปกปิดข้อมูลและแสดงการกระทำจะเป็นผลเสียต่อสังคม และ 6.สำหรับบุคคล 2 กลุ่ม คือย้ำบุคลากรทางการแพทย์ในทุกภาคส่วนให้ยึดถือ มาตรการป้องกันขั้นสูงสุด ส่วนบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ก็ต้องถือปฏิบัติเรื่องวิธีการป้องกันตัวร่วมกับคนที่กลับมาจากต่างประเทศร่วมกันก็จะเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด

"ทั้งนี้ หากทุกคนปฏิบัติร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสังคมคนรอบข้าง แม้เราจะเข้าระยะไหนสถานการณ์ก็จะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่หากเรายังคงไม่ปฏิบัติตาม เช่น ไปในพื้นที่เสี่ยง กลับมาไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ คนรอบข้างไม่ร่วมมือหรือแสดงความรังเกียจปัจจัยเหล่านี้จะเป็นอันตรายหมด เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมโรค" นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า ในจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทย 41 ราย นั้น มีผู้ป่วยอาการุนแรงเพียง 2 ราย น้อยกว่า 5% และถ้าดูตัวเลขในประเทศจีนซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากนั้นมีผู้มีอาการรุนแรง 10% ดังนั้นไม่อยากให้ประชาชนรังเกียจจนแตกตื่น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการตรวจหาเชื้อไวรัสฯ มีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคติดต่ออุบัติใหม่ และขยายเครือข่ายไปที่ คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี สถาบันบําราศนราดูร ต่างจังหวัดที่ผ่านการประเมินคือคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนเอกชนมีเพียงแห่งเดียวคือ รพ.บำรุงราษฎร์ ส่วนที่อื่นที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียนั้น ยืนยันว่ายังต้องส่งมาตรวจในเครือข่ายของเราสำหรับน้ำยาตรวจเชื้อฯ ซึ่งมีจำนวนมากนั้นกรมวิทยฯ ร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อกำหนดว่าจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยฯ ก่อน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 2 ราย นั้นตรวจไม่พบเชื้อไวรัสฯ ในลำคอแล้ว แต่อาการยังวิกฤติ เนื่องจากโรคอื่นๆ เป็นอยู่ ดังนั้นจึงยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด