ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีรับฟังความคิดเห็นพื้นที่สายไหมสะท้อนปัญหาการรับบริการสุขภาพของประชากรแฝงในเขตเมือง ชี้ปัญหาใหญ่คือขาดความรู้การย้ายและขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง อีกทั้งมีบางส่วนขึ้นทะเบียนสิทธิกับหน่วยบริการที่อยู่ห่างไกล เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางจนไม่อยากไปรับบริการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะและขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิสาธารณสุขกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่ ณ หมู่บ้านพูนทรัพย์ เขตสายไหม กทม. เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนและประชากรแฝงในเขตเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากศูนย์บริการสาธารณสุข 61, คลินิกสุขวิทยา เพิ่มสิน 17, ตัวแทนชุมชนเพิ่มสิน 1-2, ตัวแทนชุมชนเพิ่มสิน 18, ตัวแทนชุมชนดอนเมืองวิลล่า, ตัวแทนชุมชนวัดลุ่ม, เจ้าหน้าที่จากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตสายไหม-บางเขน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เข้าร่วมการอภิปราย

เจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข 61 กล่าวถึงบริบทพื้นที่เขตสายไหมว่า ประชากรในการดูแลมีจำนวน 204,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีชุมชนตั้งใหม่เยอะมาก โดยในส่วนผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่อยู่ในชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่จะโชคดีเพราะได้รับบริการจากหน่วยบริการใกล้บ้าน เช่น ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 61 หรือที่โรงพยาบาลภูมิพล แต่กลุ่มที่ย้ายมาอยู่ใหม่จะไม่สามารถลงทะเบียนรับบริการที่ 2 หน่วยบริการข้างต้นได้เนื่องจากเต็มโควต้าแล้ว จึงต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยบริการที่ไกลออกไปและไม่สะดวกในการเดินทาง

สำหรับปัญหาการเข้าถึงบริการนั้น ในกลุ่มคนที่ย้ายมาจากต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานที่ร่างกายยังแข็งแรง ถ้าไม่ป่วยก็จะไม่สนใจสิทธิของตัวเอง ไม่มาแจ้งย้ายสิทธิเพราะไม่สนใจ หรือสนใจแล้วแต่ไม่ทราบว่าจะต้องไปแจ้งที่ไหน รวมทั้งมีบางกลุ่มที่เอาพ่อแม่มาอยู่ด้วยแล้วไม่ได้แจ้งย้ายสิทธิ ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดการดูแลไปเช่นกัน

ด้านตัวแทนชุมชนเพิ่มสิน 1-2 กล่าวว่า ในพื้นที่มีประชากรแฝงประมาณ 300 คน เป็นแรงงานต่างด้าว 30-40 คน และมีผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชน 2 ราย ที่ผ่านมาไม่พบปัญหาร้องเรียนการให้บริการ แต่มีปัญหาว่าประชากรแฝงไม่ทราบสิทธิของตัวเอง เช่น การได้สิทธิตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง ถ้าคลินิคไม่แนะนำก็ไม่กล้าไปรับการตรวจเพราะกลัวเสียเงิน

ขณะที่ตัวแทนจากชุมชนดอนเมืองวิลล่า ให้ข้อมูลว่าในชุมชนมีประชากรแฝงประมาณ 200 กว่าคน ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เช่าบ้านโดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย คนกลุ่มนี้ไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิด้านสุขภาพของตัวเอง ไม่เคยรับตรวจสุขภาพ เมื่อไม่สบายก็ไม่ค่อยไปพบแพทย์แต่เลือกที่จะซื้อยากินเองเนื่องจากไม่อยากเสียเวลาทำงาน ที่ผ่านมาทางชุมชนพยายามให้ความรู้เรื่องการย้ายสิทธิบัตรทองว่าไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านก็สามารถย้ายสิทธิมารับบริการในกทม.ได้ แต่พอประชากรแฝงเหล่านี้อยากย้ายสิทธิก็อยากได้คลินิกใกล้บ้าน แต่หน่วยบริการที่รับขึ้นทะเบียนให้ได้กลับอยู่ไกลจากที่พัก

ด้านเจ้าหน้าที่จากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตสายไหม-บางเขน ให้ข้อมูลว่าในพื้นที่รับผิดชอบมีประชากรแฝงมากกว่า 30% ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ทั้งมาเรียนหนังสือและมาประกอบอาชีพ บางคนอยู่มานานนับ 10 ปีแต่ทะเบียนบ้านยังอยู่ต่างจังหวัด ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯพยายามให้ความรู้ว่าย้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพสามารถย้ายได้ แต่พบว่าถึงแม้บางรายจะย้ายสิทธิมาแล้วแต่เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่ค่อยไปรับบริการในหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้เพราะอยู่ไกล อีกทั้งไปแล้วยังนั่งรอนาน ดังนั้นจึงเลือกซื้อยามารับประทานเองมากกว่า

ขณะที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ชุมชนที่ทำงานด้วยส่วนใหญ่อพยพจากต่างจังหวัดมาตั้งรกรากใน กทม.หรือจังหวัดใหญ่ๆ ปัญหาการเข้าถึงบริการของคนไร้บ้านและคนจนเมืองแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มที่เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ กลุ่มนี้แม้จะมีสิทธิ แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็สูง ยิ่งเป็นคนไร้บ้านยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะเงินจะกินในแต่ละวันยังไม่มี อีกทั้งความเข้าใจระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการก็ไม่ตรงกัน เช่น คนป่วยรู้สึกว่าควรส่งต่อแต่แพทย์ผู้รักษาบอกว่าอาการยังรักษาได้ ด้วยความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน พอคนไข้อยากได้รับการรักษาเร็วๆก็เลยไปโรงพยาบาลจ่ายเงินเอง ทำให้ทางศูนย์ฯได้รับข้อร้องเรียนบ่อยครั้ง เช่น มีใบส่งตัวแล้วยังถูกเก็บเงินหรือไปคลินิกนอกเวลาแล้วโดนเรียกเก็บเงิน ซึ่งเป็นประเด็นความไม่เข้าใจในกระบวนการส่งตัว

2.กลุ่มที่ไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ทั้งคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือคนที่ยังไม่ได้แจ้งย้ายสิทธิ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ ต้องจ่ายเงินเองหรือขอรับการสงเคราะห์จากโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อภิปรายในประเด็นต่างๆและจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบบริการทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ดังนี้

ระดับพื้นที่

1.อยากให้มีคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจและโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ เนื่องจากผู้รับบริการหลายคนต้องไปรับบริการจากหน่วยบริการที่อยู่ไกลจากที่พักและเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

2.ยาควรมีมาตรฐานเดียว ถ้าแพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชีให้ คนไข้ไม่ควรต้องจ่ายเงิน

3.การออกใบส่งตัว อยากให้มีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันได้โดยไม่ต้องไปขอรับใบส่งตัวทุกรอบ หรือใบส่งตัวของผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรมีระยะเวลาในการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องเสียเวลามาขอใบส่งตัวบ่อยๆ

4.มีคลินิกนอกเวลารักษาจนถึง 20.00 น.

5.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์เขียว เหลือง แดง

ระดับนโยบาย

1.เสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาระบบออนไลน์ให้รองรับทั้งฐานข้อมูลและการเงิน เพื่อให้การแจ้งย้ายสิทธิควรใช้สิทธิได้เลยต่อเนื่องไม่ต้องรอขึ้นทะเบียนสิทธิ 15 วัน เพราะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต้องใช้ยาทุกเดือน ถ้าใน 15 วันนี้ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง

2.เสนอให้มีการประชาสัมพันธ์ในระดับนโยบายเรื่องการย้ายสิทธิ/ขึ้นทะเบียนสิทธิ เพื่อให้ความรู้แก่ประชากรแฝง เพราะการให้ความรู้ในระดับพื้นที่ไม่สามารถสร้างการรับรู้ได้มากเท่ากับการดำเนินการในระดับนโยบาย

3.เสนอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพรวมถึงหน่วยบริการรวมเอกชน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ควรเป็นธุรกิจ อีกทั้งจะช่วยกระจายผู้ป่วย ลดความแออัดของโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง

4.เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หาระบบบริการเพื่อช่วยนำส่งผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการเคลื่อนไหวและไม่ได้ป่วยฉุกเฉิน เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนชรา ไปโรงพยาบาลตามนัด

5.เสนอให้สนับสนุนเครื่องมือแพทย์ให้เพียงพอครอบคลุมการรักษาในทุกโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดของคนต่างจังหวัดที่จะเข้ามารับบริการในพื้นที่ กทม.

6.เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีสถานบริการรองรับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ไม่มีญาติ

7.เสนอให้มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งแบบที่ผู้รับบริการร่วมจ่ายโดยสมัครใจ และแบบที่ภาครัฐดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

และ 8.ควรมีการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่น เงินผู้สูง/คนพิการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ