ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประสบการณ์การสู้โรคระบาด COVID-19 จากอิตาลีสู่ชาวโลก JAMA live 13 March 2020 "...อย่าประมาท อย่าประเมินโรคนี้ต่ำเกินไป นี่ไม่ใช่โรคไข้หวัดใหญ่ มันรุนแรงกว่าที่คุณคิดมาก อย่าเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ จงเตรียมรับมือมันอย่างเต็มที่และจริงจัง ไม่งั้นไม่มีทางชนะได้..."

Maurizio Cecconi, MD, of Humanitas University in Milan

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 Dr.Howard Bauchner บรรณาธิการ JAMA เค้าสัมภาษณ์หมอที่อิตาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีและหน่วยบำบัดวิกฤติ Humanitas Research Hospital

ติดเชื้อไปแล้วในอิตาลีกว่า 13,882 คน ตายไป 803 คน

โดยบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไปกว่า 1,116 คน

ในเขตลอมบาร์ดี้ มีโรงพยาบาลราว 55-60 แห่ง แต่มีเตียงสำหรับคนไข้วิกฤติรวมกันเพียง 720 เตียง ดูแล้วไม่น่าจะสามารถรองรับโรคระบาด COVID-19 ตอนนี้ได้เพียงพอ

ตอนนี้ปรับแผน และหาทางเสริมเตียง ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ได้ดูแลคนไข้วิกฤติไปแล้วมากกว่า 1,000 คน

โดยขณะนี้ดูแลคนไข้วิกฤติอยู่ราว 700-800 เตียง

จำนวนคนไข้ที่ติดเชื้อ COVID-19 นี้มีจำนวนมาก หากไม่หนัก ก็จะไม่รับเข้ามาในโรงพยาบาล

ในเรื่องของอัตราการเสียชีวิตนั้น คนอายุน้อยๆ มักไม่ค่อยมีปัญหา เสียชีวิตราว 0.1% แต่คนอายุมากๆ เช่น อายุ 60-69 ปี 2.7%, 70-79 ปี 9.6% 80-89 ปี จะเสียชีวิต 16%, มากกว่า 90 ปี จะเสียชีวิต 19%

ปัญหาที่เค้าเจอตอนนี้คือ คนไข้วิกฤติมีจำนวนมาก โดยมีทั้งที่ติดเชื้อ COVID-19 และคนไข้วิกฤติอื่นที่ไม่ได้ติดเชื้อ จึงท้าทายมากในการจัดการแยกให้ไม่ให้เกิดการติดเชื้อระหว่างกัน

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรนั้น เค้าเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยจัดการเรื่องต่อไปนี้

หนึ่ง อุปกรณ์ป้องกันต้องพร้อม และได้มาตรฐาน

สอง การฝึกอบรมความรู้และทักษะให้แก่บุคลากร มีการทำ simulation ให้ฝึกก่อนจะทำงานจริง

สาม ห้ามทำงานเกิน 6 ชั่วโมง ระหว่างการทำงาน จะพยายามไม่กินอะไร ถ้าจะดื่มน้ำก็จิบๆ เอา ไม่มีการไปเข้าห้องน้ำ

เค้ายอมรับว่ายากมากที่จะส่งบุคลากรกลับบ้าน เพราะภาระงานหนักมาก บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนล้วนทุ่มแรงกายแรงใจดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่

การตัดสินใจที่ลำบากมากอีกเรื่องคือ เตียงจำกัด อุปกรณ์การแพทย์จำกัด แต่จำนวนผู้ป่วยมาก หลายครั้งจึงต้องตัดสินใจว่าจะมอบเตียงให้แก่ผู้ป่วยคนใด จึงจะมีโอกาสรอดมากกว่ากัน

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ก็มีโอกาสที่จะมีอาการแย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว ทั้งในเรื่องความเป็นกรดด่างในเลือด ปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดน้อย ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดคั่งค้างมาก รวมถึงมีโอกาสที่จะเกิดการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ มากกว่า

ในเรื่องของการติดเชื้อไวรัสนี้ซ้ำนั้น ทางอิตาลียังไม่สามารถเน้นไปดูเรื่องนั้นได้ เพราะภาระดูแลคนที่ติดเชื้อนั้นมากมายนัก และเค้าพยายามอย่างมากที่จะรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้หายและกลับบ้านโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากตรวจว่าผลเป็นลบสองครั้งก็จะส่งกลับบ้าน

สิ่งที่เน้นย้ำ และอยากฝากบอกอเมริกา และคนอื่นๆ:

"...อย่าประมาท อย่าประเมินโรคนี้ต่ำเกินไป นี่ไม่ใช่โรคไข้หวัดใหญ่ มันรุนแรงกว่าที่คุณคิดมาก อย่าเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ จงเตรียมรับมือมันอย่างเต็มที่และจริงจัง ไม่งั้นไม่มีทางชนะได้..."

มาตรการการป้องกันการระบาดจำเป็นต้องรีบทำโดยไม่ลังเล

การปกป้องครอบครัวจากโรคระบาดนี้ทำอย่างไร?

หมอเค้าเป็นคนในเขตพื้นที่ที่มีโรคระบาดรุนแรง พ่อแม่ของหมอเค้าก็แก่แล้ว เค้าก็มีครอบครัว มีลูก สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ ตระหนักแต่ไม่ตระหนก ปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันโรค หากสงสัยก็จะต้องรีบไปตรวจ

ขอให้ทุกคนช่วยกันปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง อย่าไปมีพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ดำรงชีวิตอย่างมีสติ เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยเราก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชนครับ

ขอพลังจงอยู่กับทุกคน และขอให้นักบริหาร นักการเมือง และข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ให้ถูกต้อง โปร่งใส ไม่ปิดบังครับ

เราต้องผ่านโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ด้วยดี

ด้วยรักต่อทุกคนครับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพจาก https://gisanddata.maps.arcgis.com/