ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าไทยเข้าใกล้ระยะ 3 มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้รัฐบาลจะยืนยันว่ายังคงอยู่ในระยะ 2 และยังเชื่อว่าการระบาดที่ขยายวงกว้างขึ้นนั้น จะติดตาม หาที่มาได้ทั้งหมด

แต่หากสังเกตตั้งแต่ต้น จะพบว่านิยามของ “ระยะ 3” ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลนั้น เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง จากเดิม ที่กำหนดแค่ พบโรคติดต่อโดยไม่สามารถหาที่มาได้ ไปสู่การระบาดโดยที่จำเป็นต้องเป็นวงกว้าง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละวัน แบบหลายประเทศในยุโรป ในจีน หรือในอิหร่าน

รัฐบาลยังคงยืนยันว่าไทย จะไม่แย่ถึงขั้นนั้น และถึงที่สุด แม้จะเข้าสู่ระยะ 3 แต่ไทย ก็จะมีมาตรการที่จัดการได้ ไม่ได้แย่อย่างที่หลายฝ่ายประเมิน

ทั้งหมดนี้ การคาดการณ์คร่าว ๆ ของกรมควบคุมโรค ได้สร้างแบบจำลอง 3 สถานการณ์ โดยวัดจากการระบาดในจีน ความสามารถในการแพร่เชื้อ ฤดูกาลของโรค และสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ จากเรือไดมอนด์ พรินเซส

แม้จะทำให้เห็นชัดว่า ไม่มีอะไรน่ากลัว อย่างที่คน "หวาดระแวง" ไปล่วงหน้า แต่เอาเข้าจริง หากดูจาก Scenario ร้ายแรงที่สุด ไทยก็ยังมีสิทธิ์ไปถึงจุดนั้นได้...

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการคัดกรองผู้ป่วย ณ รพ.ราชวิถี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.63 

Scenario ที่ 1 การควบคุมโรคไร้ประสิทธิภาพ

ผู้ติดเชื้อ 1 คน แพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น 2.2 คน และจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกสัปดาห์เป็นต้นไป จนพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือน ส.ค. หรือ 16.7 ล้านคน ใน 1 ปี (คิดเป็น 22% ของประชากร)

โมเดลนี้ กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า “จะไม่เกิด” ในประเทศไทย เพราะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากความเป็นจริง ไทย ยังมีโอกาสเป็นไปตามโมเดลนี้ เพราะหากวัดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์ที่แล้ว (วันที่ 11 มี.ค.) ไทยยังมีผู้ป่วยเพียง 59 ราย โดยในวันนั้น มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 6 คน เป็นเจ้าของร้านอาหาร และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน

แต่ ณ วันนี้ ไทยมีผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 212 ราย โดยเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าไทยมีผู้ติดเชื้อเกิน 3 เท่า (359%) ภายใน 1 สัปดาห์ ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้ ที่จำนวนผู้ป่วยจะพุ่งสูงขึ้นตาม Scenario นี้

สำหรับกรมควบคุมโรค ยืนยันว่าด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ชุด PPE หน้ากากอนามัย จะไม่สามารถต่อกรกับการเพิ่มขึ้นสูงในระดับนี้ได้ และจะทำให้มีผู้ป่วยวิกฤต มีผู้เสียชีวิตค่อนข้างสูง

เพราะฉะนั้น มาตรการ “ตัดตอน” ด้วยการยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ การปิดสถานบันเทิง และงดการรวมตัวของผู้คนโดยเด็ดขาด จึงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อลดความเป็นไปได้ ไม่ให้เกิดโมเดลนี้มากที่สุด

Scenario ที่ 2 ชะลอการระบาดได้ดีพอสมควร

ผู้ติดเชื้อ 1 คน แพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น 1.8 คน โดยจะระบาดช้า ๆ และจะไปพบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดเดือน ม.ค. - ก.พ. 2564 4.8 แสนคน ต่อสัปดาห์ โดยไทยจะมีผู้ป่วย 9.9 ล้านคน ภายใน 2 ปี

มีการวิพากษ์ว่าไทย และกรมควบคุมโรค ต้องการให้เป็นไปใน Scenario นี้มากที่สุด คือไม่เพิ่มสูงมากในเวลานี้ และสามารถจัดการชะลอการระบาด ผ่านการตัดตอนด้วยการงดกิจกรรมรวมคน การกักกัน – สังเกตอาการจากพื้นที่ระบาด ซึ่งไทย เริ่มทำอย่างเข้มข้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการปิดสถานบันเทิง สนามมวย โรงหนัง ร้านนวด ฟิตเนส

หากจะให้เป็นตามนี้ ไทยยังต้องออกแรงพอสมควร และค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะอัตราการระบาดในไทยยังเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าเป้าหมายของ Scenario นี้

Scenario ที่ 3 ควบคุมโรคได้ดี

ผู้ติดเชื้อ 1 คน แพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น 1.6 คน เกิดการระบาดตามฤดูกาลในแต่ละปี กลายเป็นโรคประจำถิ่นคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไทย จะมีผู้ป่วย 400,000 คน ใน 2 ปี

ยังไม่เห็นว่าการระบาดภายใต้ Scenario นี้ จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะต้องควบคุมคนไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย ควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ โดยต้องใช้วิธี Social Distancing อย่างเคร่งครัด ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการ โดยอาจต้องใช้วิธีถึงขั้นปิดเมือง ปิดธุรกิจ ไประยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอุปสรรคสำคัญคือเริ่มมีการระบาดใน Cluster ที่ควบคุมไม่ได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น จากสนามมวยลุมพินี Cluster เดียวกับนักแสดง แมทธิว ดีน ซึ่ง ณ ขณะนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตามหาตัวได้แล้ว 60-70 คน และยังมีอีกจำนวนมากที่ อาจยังตามหาไม่ได้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงก็คือ คนที่อยู่ในสนามมวยลุมพินี น่าจะมีมากกว่า 5,000 คน

ขณะเดียวกัน Cluster กลุ่มสถานบริการทองหล่อ ที่มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 20 คน, Cluster กลุ่มผู้แสวงบุญที่เดินทางจากมาเลเซีย ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, Cluster ตำรวจที่เดินทางกลับจากสเปน และผู้ป่วยบางรายที่หาที่มาไม่ได้ แต่บังเอิญตรวจเชื้อโคโรนาไวรัสแล้วเจอ เช่น อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือนิติบุคคลของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางแล้วเจอเชื้อ ไม่ว่าจะในจีน ในญี่ปุ่น ในออสเตรเลีย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการติดต่อของโรคที่เกิดขึ้น “ใต้พรม” อีกมาก

ไม่กี่วันหลังจากนี้ จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า มาตรการที่ทำไปแล้ว สามารถป้องกันได้หรือไม่ หากยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และจำนวนการแพร่เชื้อต่อได้ ก็อาจถึงเวลาแล้ว ที่จะเขยิบเข้าไปใกล้การปิดเมือง การปิดประเทศ ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อห้ามการออกนอกบ้าน อย่างที่ใช้ในยุโรปมากขึ้น