ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์เผยแผนรับมือกรณีการระบาดของโควิด-19 เข้าสู่ช่วงพีค หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะให้นอนโรงพยาบาล 2 วันแล้วส่งไปพักที่ห้องพักหรือโรงแรมที่จัดเตรียมไว้ ยืนยันมีเตียงรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอแน่นอน แต่ขอประชาชนต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและก้าวไปด้วยกัน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการแถลงความคืบหน้าสถานการณ์ โรคไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 17 มี.ค. 2563 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเรื่องเตียงสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ขอยืนยันว่ามีเพียงพอ โดย ณ วันที่ 17 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีเตียงใน กทม.ประมาณ 200 เตียง ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเลิดสินได้เปิดบริการหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (Cohort ward) แล้ว ส่วนสถาบันโรคทรวงอกและโรงพยาบาลราชวิถีจะเปิด Cohort ward อีกประมาณ 40 เตียง ที่โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ยังรับผู้ป่วยได้อีก 19 เตียง และเมื่อถึงสิ้นสัปดาห์นี้น่าจะมีเตียงใน กทม. ประมาณ 400 เตียง นอกจากนี้ยังจะมีส่วนของโรงพยาบาลเอกชนอีกส่วนหนึ่งซึ่งได้ตกลงกันแล้วว่าโรงพยาบาลเอกชนไหนที่ตรวจคนไข้ควรต้องรับแอดมิดคนไข้ด้วย ดังนั้นยืนยันว่ามีเตียงเพียงพอที่จะรองรับคนไข้แน่นอน

ขณะเดียวกัน ยังมีการเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยนอกจากโรงพยาบาลของกรมสุขภาพจิตที่มีประมาณ 200 เตียงแล้ว โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนของ กทม.ก็อาจเตรียมอีก 200 เตียง นอกจากนี้ยังมีที่ทุ่งสีกันของทหารอากาศ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกก็จัดเตรียมในลักษณะ Cohort ward อีกด้วย ส่วนเรื่องยา ขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ถูกส่งมาจากญี่ปุ่นแล้ว 40,000 เม็ด เพียงพอทำการรักษาคนไข้ได้ 600-700 คนในเบื้องต้น และจะสั่งซื้อยาเพิ่มอีกหลายหมื่นเม็ด มีการจัดเตรียมระบบสำรองยาทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ดังนั้นเรื่องยาก็ไม่น่าจะมีปัญหา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มีคำถามว่าถ้าเกิดกรณีการระบาดเข้าสู่ช่วงพีค มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะทำอย่างไร จะให้กลับไปกักตัวที่บ้านหรือไม่ ขอเรียนว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนล่วงหน้าไว้แล้ว โดยในกรณีที่มีคนไข้เยอะจริง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเดือนหน้า กระทรวงฯมีแผนว่าอาจเตรียมเป็นหอพักหรือโรงแรม โดยหลักการคือคนไข้ทุกคน ณ เวลานั้น ถ้าตรวจแล้วมีผลบวก จะต้องนอนโรงพยาบาลก่อนเพื่อประเมินอาการเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ถ้าคนไข้อาการคงที่ ดีขึ้น หรือไม่มีไข้แล้ว หลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้วจะส่งไปนอนที่หอพักหรือโรงแรมที่จัดเตรียมไว้

"นี่คือการเตรียมการล่วงหน้ากรณีที่เดือนหน้ามีสถานการณ์นะครับ แต่เราหวังว่าจะไม่มี" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าขณะนี้ทางราชวิทยาลัยทุกแห่งร่วมกับกรมการแพทย์เตรียมการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าเตียงพอแน่ ๆ แต่ที่จะขอความร่วมมือจากประชาชนคือขอให้เข้าใจว่าถ้ามีการเปิด Cohort ward ทุกคนต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและก้าวไปด้วยกัน อย่างกรณีที่โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ซึ่งตนได้ไปตรวจสถานที่มาพบว่าชาวบ้านไม่อยากให้รับผู้ป่วยโควิด-19 แม้หมู่บ้านจะห่างโรงพยาบาลไปเกือบ 100 เมตร ซึ่งต้องขอเรียนว่าคนไทย 70 ล้านคนต้องช่วย ถ้าให้แพทย์พยาบาลทำกันอยู่ 4-5 แสนคน เราไม่ชนะ แต่ถ้าทำด้วยกัน ประเทศไทยชนะแน่