ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขจับมือกลาโหม กรุงเทพมหานคร และ UHOSNET บูรณาการระบบส่งต่อและการบริหารทรัพยากรเตียงร่วมกัน รองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย พร้อมมีแผนสำรองเปิดโรงพยาบาลสนามหรือใช้หอพักหรือโรงแรมในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมด้านการรักษา ระบบส่งต่อ และเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายคณะแพทย์ศาสตร์ทุกแห่ง (UHOSNET) กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ตลอดจนขยายพื้นที่และบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อการวินิจฉัยและตรวจทางห้องปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบส่งต่อผู้ป่วย และบริหารเตียงร่วมกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เบื้องต้นได้บริหารเตียงจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. เครือข่าย UHOSNET กองทัพ และตำรวจ ได้ประมาณ 600 เตียง และพร้อมขยายอีก 1,000 เตียง มีเพียงพอรองรับผู้ป่วย และหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว มีแผนสำรอง เช่น ระบบโรงพยาบาลสนาม หรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้พักฟื้นในหอพัก หรือโรงแรมทั้งตึก โดยมีทีมแพทย์พยาบาลคอยติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สำหรับการคัดกรองในเบื้องต้น โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ได้แยกคลินิกไข้หวัด (Fever and ARI clinic) บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ไม่ให้ปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

พร้อมกันนี้ ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน หากพบผู้ป่วยจะใช้ระบบห้องแยกโรคเฉพาะ เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อม เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นระบบการรักษาที่ครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ โดยแนวทางปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการแพร่กระจายของโรค

ขอให้ประชาชนยึดหลัก ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล แยกอาหารชุดของตัวเอง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าเมื่ออยู่ในที่คนแออัด ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง หากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ทันที