ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยวันที่ 21 มี.ค.พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 89 ราย กลับบ้าน 1 ราย สรุปผู้ป่วยสะสม 411 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 44 ราย ยังรักษาใน รพ. 366 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 7 ราย เสียชีวิต 1 ราย ขอประชาชนอย่าวิตกกังวล ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า โดยในวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่ม 89 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 51 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 32 ราย ,กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย ,กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 11 ราย และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 6 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 38 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 12 ราย ใน จำนวนนี้มีหลายรายที่มีประวัติเดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปต ที่ประเทศกัมพูชา ร่วมกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้, กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 6 ราย และรอผลสอบสวนโรค / ประวัติเสี่ยงเพิ่มเติม 20 ราย

สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 7 ราย จาก สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาลบาลเอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยสรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 44 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 366 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 411 ราย

ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยรายใหม่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้าควบคุมสอบโรคทันทีภายใน 12 ชั่วโมงและรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ไปยังองค์การอนามัยโลกทุกวัน ในการรายงานผู้ป่วยต้องมีผลสอบสวนโรคประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ข้อมูลที่รายงานแต่ละวันเป็นการทบยอดข้อมูลสะสม บางวันอาจมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากหรือไม่ตรงกับข้อมูลในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้ทันเหตุการณ์กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ให้จังหวัดรายงานผู้ป่วยรายใหม่เบื้องต้นได้ทันทีหลังจากมีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบในช่วงนี้เป็น วัยหนุ่มสาว วัยทำงาน มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อาจทำให้นำโรคไปติดคนใกล้ชิดในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนๆ ที่สำคัญโรคนี้มีความรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข งดร่วมกิจกรรมทางสังคม เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด ทำงานอยู่ที่บ้าน หากประชาชนช่วยกันปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด จะทำให้ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

สำหรับผู้ที่เคยไปในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วย อาทิ สนามมวย สถานบันเทิง สนามชนไก่ ชมมหรสพ ให้กักกันตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 14 วัน ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้อื่น สังเกตอาการ หากยังไม่มีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ยังไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะหากยังไม่มีอาการโอกาสตรวจพบเชื้อมีน้อยมาก จะทำให้ขาดการระมัดระวังตัวเองนึกว่าไม่ติดเชื้อ