ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยา ชี้การพิจารณาปิด “ห้าง” หรือสถานที่ต่างๆ ควรมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเป็นพื้นที่ต้นตอการแพร่กระจายเชื้อในประเทศไทย ห่วงเกิดการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค แนะ กทม. พิจารณา “ยกเลิก” มาตรการปิดห้าง และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องออกแนวทางตามกัน

ภายหลังมาตรการปิดห้างและพื้นที่ชั่วคราว ของ กทม. ระหว่างวันที่ 22 มี.ค. - 12 เม.ย. 2563 และต่อมาจังหวัดปริมณฑลได้ออกประกาศตาม รวมถึงการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สามารถประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ได้ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะทำให้ผู้คน เกิดการเคลื่อนย้ายกลับถิ่นฐานจำนวนมาก ซึ่งอาจซ้ำเติมสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศงด ไม่หยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดการเดินทางกลับภูมิลำเนา

วันนี้ (22 มี.ค. 2563) นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และอดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถาม Hfocus ระบุว่า การกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถพิจารณาปิดพื้นที่ต่าง ๆ ได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสถานการณ์การระบาดแตกต่างกัน แต่ในทางปฏิบัติก่อนประกาศปิดสถานที่ใดก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึงเหตุผลว่าพื้นที่นั้น เป็นจุดเสี่ยงแพร่กระจายโรค และเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดในปัจจุบันหรือไม่ เช่น สนามมวย ผับ บาร์ และสถานบันเทิง พื้นที่เหล่านี้ชัดเจนว่าเป็นต้นตอการแพร่กระจายเชื้อในประเทศไทย เพราะเมื่อคนเข้าไปจะอยู่กันอย่างหนาแน่นและใกล้ชิด ต้องตะโกนเปล่งเสียงพูดคุยระหว่างกัน ดังนั้น การปิดพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้พร้อมกับการส่งเสริมให้คนเพิ่มระยะห่างระหว่างกัน หรือ Social distance จึงเป็นมาตรการที่ถูกต้องและเหมาะสม

ทว่า สำหรับมาตรการ “ปิดห้าง” ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่ชี้ว่าห้างในประเทศไทยเป็นพื้นที่แพร่กระจายเชื้อไวรัส ขณะเดียวกันการปิดห้างและสถานที่อื่นๆ ที่ไม่จำเป็น จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค สวนทางกับมาตรการที่เราต้องการลดการเคลื่อนย้ายตัวบุคคล เช่น การเลื่อนสงกรานต์ออกไปเพื่อลดการระบาด แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่มาก น่าเห็นใจที่ทาง กทม. มีความจำเป็นต้องดำเนินการออกมาตรการต่างๆ แต่เมื่อพบว่ามาตรการบางอย่างไม่จำเป็น ก็น่าจะทบทวนพิจารณา “ยกเลิก” มาตรการปิดห้าง และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องออกแนวทางตามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อห้างร้านปฏิบัติตามมาตรการ Social distance อย่างเคร่งครัด มีการตรวจวัดไข้ ให้ล้างมือ ทำความสะอาดพื้นที่สม่ำเสมอ และเว้นระยะห่างระหว่างผู้ใช้บริการ

“การปิดห้างอาจไม่ตอบโจทย์ เพราะผลที่เกิดขึ้นตามมาไม่เพียงทำให้คนรีบไปซื้อของเกิดการกระจุกตัว ขณะเดียวกันแรงงานจำนวนมากอาจตกงาน เลยจำเป็นต้องเดินทางกลับถิ่นฐาน ซึ่งการเคลื่อนย้ายบุคคล เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จึงควรปรึกษาหารือกับภาคเอกชน ก่อนออกมาตรการหรือออกประกาศใดๆ ที่ส่งผลให้คนตกใจ ตกงาน หรือเคลื่อนย้ายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การปิดสถานที่สามารถทำได้ แต่ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งหมด ควรปิดเฉพาะพื้นที่ต้นตอแพร่ระบาด และไม่สามารถปรับพื้นที่ให้ปลอดภัยได้” นพ.คำนวณ กล่าว

ทั้งนี้ ตัวอย่างในสิงคโปร์ ก็ไม่ได้มีการประกาศปิดห้างแต่อย่างใด เพราะที่นั้นยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามีการกระจายเชื้อในห้าง แต่จะพิจารณาปิดพื้นที่ที่มีหลักฐานชี้ชัดว่า เป็นต้นตอการแพร่ระบาดเท่านั้น เพื่อให้คนยังสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ