ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.รายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่พุ่งอีก 188 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 599 ราย ชี้ คำสั่งปิดสถานบริการของ กทม. ทำให้ประชาชนและแรงงานมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายและนำพาเชื้อโรคไปส่วนภูมิภาค กรมควบคุมโรคส่งหนังสือด่วนถึงกรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ช่วยคัดกรองผู้โดยสารที่มาจาก กทม.และปริมณฑล พร้อมประสานผู้ว่าราชการทุกจังหวัดจัดทีมเฝ้าระวังระดับอำเภอและตำบล

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 22 มี.ค. 2563 ระบุว่า มีผู้ป่วยกลับบ้านได้แล้ว 1 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 188 ราย จำแนกได้ดังนี้

กลุ่ม 1 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 65 ราย แบ่งเป็น

1.1 สนามมวย 21 ราย ประกอบด้วย นักมวย เซียนมวย ผู้ปล่อยแถวนักมวย ผู้ชมจาก กทม. เลย หนองบัวลำภู ปทุมธานี อุดรธานี ชลบุรี นนทบุรี พัทลุง แพร่และสมุทรปราการ

1.2 สถานบันเทิง 5 ราย ประกอบด้วยพนักงานร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ พนักงานต้อนรับ ใน กทม. อุดรธานี เพชรบูรณ์ มีประวัติการทำงานในสถานที่ท่องเที่ยวย่านทองหล่อ

1.3 ผู้เข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 2 ราย ที่ จ.นราธิวาส และ ยะลา

1.4 สัมผัสผู้ป่วยที่มีรายงานก่อนหน้านี้ 37 ราย กระจายอยู่ใน กทม. สมุทรปราการ สุโขทัย นนทบุรี ชลบุรี ปัตตานี สงขลา ขอนแก่น ปราจีนบุรี อุดรธานี และสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันกลุ่มสนามมวย สถานบันเทิง ผู้ที่เดินทางกลับจากปอยเปต ประเทศกัมพูชา

กลุ่ม 2 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 ราย

2.1 ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 8 ราย เป็นคนไทย 6 ราย ได้แก่ พนักงานที่ทำงานที่ปอยเปต นักศึกษาที่เดินทางกลับจากอิหร่าน ส่วนชาวต่างชาติ 2 ราย เป็นชาวสวิสและอเมริกัน

2.2 ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยในย่านที่มีผู้คนแออัดหรือทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว 7 ราย

กลุ่ม 3 ยืนยันการพบเชื้อแล้ว แต่ต้องรอสอบสวนโรค 108 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยสรุป ณ วันที่ 22 มี.ค. 2563 มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 45 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 553 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 7 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจและต้องเฝ้าอาการอย่างใกล้ชิด และเสียชีวิต 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 599 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า วานนี้ (21 มี.ค.2563) มีคำสั่งของกรุงเทพมหานครออกมาในลักษณะปิดสถานบริการต่างๆ ทำให้มีแนวโน้มว่าจะทำให้ประชาชนของ กทม.และแรงงานที่ทำงานใน กทม. เคลื่อนย้ายออกไปยังส่วนภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เกิดผลของการเคลื่อนย้ายตัวโรคไปด้วย

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการ จึงมีหนังสือด่วนที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง ขอความร่วมมือจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอำเภอและหมู่บ้าน กรณีผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.จัดตั้งทีมอาสาโควิด-19ระดับอำเภอและหมู่บ้านเพื่อดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวัง

2.จัดทำฐานข้อมูลของผู้เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล ที่มาถึงภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

3.ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ผู้เดินทางกลับ เพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นในที่พำนักหรือที่พักอาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา

4.แจ้งผู้เดินทางกลับ ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้

4.1 ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น

4.2 ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ช้อนส้อม

4.3ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ นาน 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ลูบมือจนแห้ง

4.4 หลีกเลี่ยงการพูดคุยใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง

4.5 หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยทันที

ขณะเดียวกัน ยังมีหนังสือขอความร่วมมือการคัดกรองผู้โดยสารที่มาจาก กทม.และปริมณฑล ไปยังอธิบดีกรมขนส่งทางบก โดยมีเนื้อหาสำคัญคือขอให้หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกช่วยร่วมดำเนินการดังนี้

1.แจ้งบริษัทขนส่งและผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ทำความสะอาดพาหนะก่อนและหลังการเดินทางโดยเน้นพื้นที่สัมผัสร่วม เช่น ราวจับบันได ประตู และห้องน้ำ

2.เก็บบันทึกข้อมูลชื่อ นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้โดยสาร เพื่อติดตามสอบถามโดยอาจบันทึกลงในแอปพลิเคชั่นของหน่วยงานของท่านหรือแอปฯอื่นตามความเหมาะสม

3.ดำเนินการคัดกรองผู้โดยสารก่อนการเดินทางออกจาก กทม.และและปริมณฑล ทั้งที่สถานีขนส่งหลักและสถานีรถโดยสารสาธารณะ หากพบผู้มีไข้ อาการทางเดินหายใจ ขอให้งดเดินทางและแนะนำให้กลับที่พักเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการอยู่ในที่พำนัก หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปรับการรักษาพยาบาลใกล้บ้าน

4.ให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสารในการป้องกันโรคก่อนการเดินทาง เช่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการจัดหาหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้สวมใส่ตามความเหมาะสม

5.ลดความแออัดของผู้โดยสารโดยจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ

6.เมื่อเดินทางถึงสถานีปลายทางแล้วพบว่าผู้โดยสารมีอาการไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้แจ้งนายสถานีเพื่อรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

ทั้งนี้ ชุดข้อมูลดังกล่าวยังได้ส่งไปยังผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองอีกด้วย