ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนเพื่อนบ้านและคนในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแล “ผู้สูงอายุ” ทั้งอาหาร น้ำ และยารักษาโรค แนะหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วย หรืออาการบ่งชี้ว่าติดโควิด-19 หรือไม่ เหตุมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด เพราะมักมีโรคประจำตัว มีสภาพร่างกายเสื่อมตามวัย ภูมิต้านทานน้อยลง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ “อยู่กันตามลำพัง” หรือ “สองคนตายาย”

ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 พบว่า จากจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด 12 ล้านคนในประเทศไทย ประมาณ ร้อยละ 10.7 ของผู้สูงอายุ อยู่ตามลำพังคนเดียว และประมาณ ร้อยละ 20 อยู่กันตามลำพังสองคนตายาย โดยในชนบทจะมีสัดส่วนผู้ที่อยู่กันสองคนตายายสูงกว่าในเมืองเล็กน้อย ยิ่งไปกว่านั้น ประมาณ ร้อยละ 39 ของผู้สูงอายุไทยยังมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งการอาศัยอยู่เพียงลำพังหรือไม่ได้อยู่กับลูกหลาน และการมีรายได้จำกัดหรือมีฐานะยากจนนั้น ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการดูแลตัวเองตามหลักสุขภาวะที่ดี ดังนั้น เพื่อนบ้านและคนในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแล ทั้งอาหาร น้ำ ยา และสังเกตอาการเจ็บป่วย หรือมีอาการบ่งชี้ว่าติดโควิดหรือไม่

ทั้งนี้ ความกังวลต่อผู้สูงอายุที่อยู่ในต่างจังหวัด และลูกหลานที่มาทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ซึ่งกำลังเดินทางกลับไปภูมิลำเนา หลังคำสั่งปิด กทม. ตามที่ปรากฏเป็นข่าว น่ากลัวมากว่าจะมีโอกาสเอาเชื้อโควิด-19 กลับไปให้ผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย อยากให้คิดกันตรงนี้มากๆ คิดถึงผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ กลับไปแล้วสามารถกักกันตัวเอง แยกกันกินแยกกันอยู่ได้หรือไม่ ในช่วง 14 วันแรก

คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการสูญเสียชีวิตของประชากรสูงจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางอายุของประชากรที่เป็นประชากรสูงวัย โดยส่วนใหญ่ประชากรกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด เช่น ญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับอิตาลีที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยเป็นอันดับสองรองลงมาจากญี่ปุ่น ก็สูญเสียผู้สูงวัยจากโรคระบาดครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์

“ประเทศไทยนับเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่ก้าวเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วมาก โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุราว 12 ล้านคน ดังนั้นหากไม่มีการเตรียมทรัพยากร หรือมีนโยบายเพื่อมารองรับกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างทันท่วงที อาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าไปอย่างรวดเร็ว” ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ กล่าว