ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปักกิ่ง, 24 มี.ค. (ซินหัว) — คณะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของจีน ตอกย้ำความสำคัญของการใช้วิธีการที่หลากหลายยามรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีลักษณะอาการแตกต่างกัน

หวังกุ้ยเฉียง ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปักกิ่งแห่งที่ 1 แถลงข่าวว่า “ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงควรถูกกักกันตัวในพื้นที่ส่วนกลาง เฝ้าติดตามสัญญาณบ่งชี้ และส่งตัวเข้าโรงพยาบาลที่กำหนดหากอาการทรุดลง”

สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงและอาการหนักขั้นวิกฤตต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่กำหนด เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงอย่างสัมพันธ์กัน และความรุนแรงของโรคยกระดับอย่างรวดเร็ว

“ต้องแบ่งแยกสถานที่รักษาผู้ป่วยตามอาการที่แตกต่างกัน มิเช่นนั้นทรัพยากรการแพทย์อันมีค่าอย่างเตียงในโรงพยาบาลจะตกเป็นของผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมากกว่าผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือวิกฤตที่ต้องการรักษาเชิงรุก นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น”

หวัง ยังสำทับถึงการใช้วิธีบำบัดรักษาแบบครอบคลุม ทั้งการรักษาด้วยออกซิเจนที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกรายต้องได้รับ การใช้ระบบช่วยพยุงการหายใจที่มีความสำคัญมากกับผู้ป่วยอาการรุนแรง และการดูแลอวัยวะหลักของร่างกาย

การใช้ระบบช่วยพยุงการหายใจของผู้ป่วยแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่การใช้หน้ากากให้ออกซิเจน การใช้เครื่องช่วยหายใจ ไปจนถึงการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอดหรือเครื่องเอคโม (ECMO)

“การรักษาด้วยออกซิเจนจะเริ่มไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยอาการทรุดลงสู่ระดับรุนแรง” หวังกล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ป่วยในภาวะดังกล่าวต้องได้รับการกำจัดเสมหะในทางเดินหายใจให้หมดก่อนใช้เครื่องช่วยหายใจ

ส่วนการดูแลอวัยวะหลักของร่างกายผู้ป่วยมีความสำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตจากโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นความรุนแรงถึงชีวิตเพราะประสบภาวะพร่องออกซิเจน (hypoxemia)

หวัง กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของจีนให้ความสำคัญกับการรักษาโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนควบคู่กับการรักษาโรคโควิด-19 โดยมีการส่งทีมเจ้าหน้าที่หลากหลายสาขาวิชาชีพสู่ศูนย์กลางการระบาดอย่างอู่ฮั่น

“เราประยุกต์ใช้การรักษาแบบเชิงรุกกับผู้ป่วยเพื่อพยุงและคุ้มครองอวัยวะหลักของร่างกาย อาทิ ตับ ไต และหัวใจ” หวังกล่าว

“การรักษาด้วยทีมแพทย์จากหลากหลายสาขาวิชาชีพปรากฏผลดีในอู่ฮั่น อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”