ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทันตะ จุฬาฯ ขอประชาชนมั่นใจมีมาตรฐาน เชื่อไม่มีใครติดเชื้อจากอาจารย์พิเศษ

จากกรณีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศคณะทันตแพทยศาสตร์ เรื่องพบอาจารย์พิเศษของคณะ ติดโควิด–19 และได้ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ของคณะ 11 คน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา 13 คน ซึ่งติดต่อโดยตรงกับอาจารย์พิเศษคนดังกล่าว กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน

ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกสำรองทันตแพทยสมาคม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อาจารย์พิเศษคนดังกล่าว ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จริง อย่างไรก็ตาม เอกสารที่ออกมา เป็นเอกสารชี้แจงจากคณบดีถึงเจ้าหน้าที่คณะ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเกิดข่าวลือ โดยเป็นเอกสารภายในคณะทันตแพทยศาสตร์ ใช้ชี้แจงให้บุคลากรให้เข้าใจ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำไปเผยแพร่ภายนอก โดยเฉพาะต่อสื่อมวลชน 

ทั้งนี้ อาจารย์พิเศษคนดังกล่าว ได้แจ้งประวัติการเดินทางโดยละเอียด ย้อนหลังกลับไปถึงต้นเดือนมีนาคม โดยประวัติการทำงานส่วนใหญ่ อยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ จ.สระบุรี รวมถึงสถานที่อื่นๆ เช่น คลินิกทันตกรรม ร้านอาหาร ฟิตเนส ทั้งใน จ.สระบุรี และในกรุงเทพมหานคร และได้เดินทางเข้ามาที่คณะล่าสุด คือเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้งดการเรียนการสอนทั้งมหาวิทยาลัย ส่วนคณะทันตแพทยศาสตร์ ก็ไม่ได้เปิดที่ทำการคณะตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมแล้ว เรื่องดังกล่าว จึงไม่ได้กระทบกับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย นักศึกษา หรือคนไข้ที่มาใช้บริการ อย่างที่มีการนำเสนอข่าวก่อนหน้านี้ ส่วนที่มีประวัติว่า ได้กักตัวบุคลากร และกลุ่มผู้ป่วยที่ใกล้ชิดนั้น พบว่า เป็นผู้ใกล้ชิดอาจารย์คนดังกล่าว ในวันที่ 6 มีนาคม และ 13 มีนาคม ซึ่งขณะนี้ เลยกำหนด 14 วัน แต่ไม่มีผู้ใดมีอาการ รวมถึงได้มีการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา

ทพ.อดิเรก กล่าวอีกว่า กรณีนี้ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่อาจารย์พิเศษท่านนี้จะได้รับเชื้อมาจากคณะทันตะฯ เพราะประวัติการเดินทางส่วนใหญ่ อยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.สระบุรี และสถานที่อื่นๆ โดยได้เดินทางเข้ามาที่คณะเพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น จึงอยากขอให้ผู้ที่เคยมาใช้บริการ และนักศึกษาทุกคน มั่นใจในมาตรฐานการทำงานของคณะทันตแพทยศาสตร์ ในเรื่องการรักษาที่ปราศจากเชื้อ และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นมาตรฐานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และในกรณีนี้ จะไม่มีการแพร่เชื้อไปยังบุคลากร เจ้าหน้าที่ คนไข้ หรือนักศึกษา อย่างแน่นอน