ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ออกหลักเกณฑ์จ่ายชดเชยค่าบริการให้แก่หน่วยบริการ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จ่ายค่าแล็บไม่เกิน 3,000 บาท/ครั้ง ค่ายาไม่เกิน 7,200 บาท/ราย เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลดูแลรักษาประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตนได้ลงนามในประกาศ สปสช. เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2563 และ ประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลให้ได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สำหรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งได้ดำเนินงานก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการดำเนินงานตามประกาศนี้ด้วย

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของประกาศ สปสช. เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญคือให้สิทธิการรับบริการสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อยู่ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่ผู้มีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งการออกหลักเกณฑ์จ่ายชดเชยค่าบริการให้แก่หน่วยบริการ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะช่วยทำให้โรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นสถานการณ์ไม่ธรรมดา การระดมทรัพยากรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยุติการแพร่ระบาด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ป้องกัน และยารักษา รวมถึงงบประมาณ การออกหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยครั้งนี้ จะเป็นส่วนสนับสนุนให้หน่วยบริการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลโดย สปสช. จะจ่ายชดเชยเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยในระบบปกติ” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2563 และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) จะกล่าวถึงการเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายเพื่อบริการทางการแพทย์ต่างๆสำหรับกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย

1.การตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ

1.1 ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ รวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) สำหรับบุคลากรห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาท/ครั้ง

1.2 ค่า PPE สำหรับบุคลากรเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ จ่ายตามจริงไม่เกิน 540 บาท/ครั้ง

2.ค่าห้องควบคุมรวมค่าอาหาร

2.1 ค่าห้องควบคุมหรือห้องดูแลการรักษารวมค่าอาหาร ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือแนะนำ จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาท/วัน

2.2 ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท/วัน

3. ค่า PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อชุด

3.1 สำหรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ถึงอาการปานกลาง จ่ายตามการให้บริการจริงไม่เกิน 15 ชุด/วัน

3.2 สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจ่ายตามการให้บริการจริงไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน

4. ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จ่ายตามจริง ไม่เกิน 7,200 บาท/รายหรือจ่ายชดเชยเป็นยา ทั้งนี้ ในกรณีมีความจำเป็นที่หน่วยบริการต้องใช้ยารักษาผู้ป่วยเกินกว่าอัตราที่กำหนด ให้หน่วยบริการขออนุมัติต่อ สปสช. เป็นรายกรณี

5. ค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ

5.1 ค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ อัตราจ่ายเป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน

5.2 ค่า PPE รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาท/ครั้งที่มีการส่งต่อผู้ป่วย

6. ค่าตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนไทยทุกคน จ่ายตามอัตราที่กำหนดในข้อ 1 โดยอนุโลม