ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการสาธารณสุข ขอ สธ. จัดสรรตำแหน่งข้าราชการอย่างเป็นธรรม เหตุติดระเบียบ ก.พ. ต้องสอบแข่งขันก่อน ถึงมีสิทธิบรรจุเป็นข้าราชการ ต่างจากสหวิชาชีพอื่นที่ใช้ระบบคัดเลือก

หลายวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการบรรจุ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ในสังกัดที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดหนัก เป็น “ข้าราชการ” จำนวน 45,684 ตำแหน่ง

ล่าสุด นายพัทธพล อักโข ตัวแทนเครือข่ายเจ้าพนักงานสาธารณสุขและนักวิชาการสาธารณสุข จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า แม้ตามรายละเอียดการบรรจุข้าราชการกรณีพิเศษในครั้งนี้ ได้มีจัดสรรตำแหน่งให้กับ นักวิชาการสาธารณสุข 10,651 ตำแหน่ง และเจ้าพนักงานสาธารณสุข 2,372 ตำแหน่ง แต่ตามกฎระเบียบของ ก.พ. ตั้งแต่ปี 2558 กำหนดให้สหวิชาชีพกลุ่มนี้ ต้องผ่านการสอบแข่งขันก่อน จึงจะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ใช้ระบบคัดเลือกโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน ในการบรรจุเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับสหวิชาชีพอื่นๆ จึงอยากขอความเป็นธรรมให้กับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานหรือลูกจ้างประจำ ในตำแหน่ง “นักวิชาการสาธารณสุข” และ “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” ที่มีผลสอบผ่านเกณฑ์วัดความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชุน หรือหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่มีความเสมอภาคเป็นธรรม โดยไม่ต้องสอบแข่งขันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราว ได้รับคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการกรณีพิเศษในครั้งนี้

หากกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ยังติดหลักเกณฑ์การสอบแข่งขัน เชื่อว่าตำแหน่งที่จัดสรรมาให้ 1 หมื่นกว่าตำแหน่ง จะมีคนที่ได้รับการบรรจุจริงน้อยมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุงาน 8-10 ปีขึ้นไป เพราะหลายคนจบการศึกษามานานแล้ว และทำงานหนักอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการฝึกฝนความเชี่ยวชาญ ในด้านหัตถการและการปฏิบัติมากกว่า ขณะเดียวกันกฎระเบียบนี้อาจเอื้อให้กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ยังแม่นยำในวิชาการ และมีเวลาว่างเนื่องจากยังไม่ได้ทำงานหรือสังกัดหน่วยงานใด สามารถเข้ามาสอบและบรรจุเป็นข้าราชการได้อีกด้วย จะยิ่งทำให้มีบุคลากรสหวิชาชีพกลุ่มนี้ ติดค้างไม่ได้เป็นข้าราชการจำนวนมาก

“ต้องการร้องขอความเป็นธรรมให้กับ เพื่อนๆ และน้องๆ ในสายงานนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นกลุ่มสหวิชาชีพสายสนับสนุนของ สธ. อยากให้ทุกกลุ่มวิชาชีพได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ภายใต้ระบบและระเบียบปฏิบัติเดียวกัน เช่นเดียวกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ที่ใช้ระบบคัดเลือกได้เลย แต่ในสายงานนี้กลับต้องผ่านการสอบแข่งขันก่อนตามระเบียบของ ก.พ. ก่อน เป็นเหตุให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นการใช้ดุลพินิจไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน” นายพัทธพล กล่าว

ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือ “หมออนามัย” ก็เป็นบุคลากรที่ให้บริการและทำหน้าที่สำคัญ ในการควบคุมป้องกันการระบาดของโรค รวมถึงดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นนักรบแนวหน้าในการติดตามกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อ ตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ พร้อมกับให้ความรู้ประชาชน ในการป้องกันตนเองร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดังนั้น อยากขอให้ สธ. จัดสรรอัตราตำแหน่งแต่ละเขตสุขภาพอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม โดยพิจารณาจากระยะเวลาการปฏิบัติงานและสถานที่ปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดารเป็นหลัก รวมทั้งภารกิจความเสี่ยงในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19