ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตามที่ สธ.เสนอ 45,684 ตำแหน่ง พร้อมอนุมัติมาตรการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขสู้ “โควิด-19”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติอนุมัติและเห็นชอบในหลักการตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ดังนี้

1.ขออัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา

2.ขออัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำนวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา

โดยทั้ง 2 ข้อนี้ให้ไปกำหนดหลักเกณฑ์โดยยึดกรอบและอัตรากำลังที่ ครม.อนุมัตินี้ จากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยหลังจากผ่านการพิจารณาของ คปร.แล้ว ไม่ต้องกลับที่การพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อีก ให้ถือว่ามีผลผูกพัน และ ก.พ.จะเป็นผู้บรรจุวาระเข้า ครม.เอง เพื่อให้ ครม.รับทราบตามที่ได้อนุมัติ

3.คัดเลือกบรรจุบุคคลซึ่งมิได้สำเร็จการศึกษาในวุฒิที่ ก.พ. กำหนดคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว17 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562

4.จัดสรรโควตาพิเศษความดีความชอบพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข

5.การเพิ่มอายุราชการเพิ่มทวีคุณในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับบุคลากรสาธารณสุข

6.การลดดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลกรุงไทยธนวัฎ/ธนาคารออมสิน ระยะเวลา 1 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุข

7.การปรับอัตราชดเชยใน ม.18(4) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ.2561 (กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำนวน 2 เท่า จากอัตราเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากมาตรการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขในสถานการณ์ โควิด-19 ข้างต้นแล้ว ยังมีอีก มาตรการ ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

1.ปรับสิทธิประโยชน์ของบุคลากรที่ได้รับความเสียหายกรณีปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (กรณีเสียชีวิต/เจ็บป่วย/ทุพพลภาพ)

2.ปรับระเบียบค่าตอบแทนกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 5 ในการปฏิบัติงานในกิจกรรมเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 (เพิ่มค่าตอบแทน 2 เท่าจากอัตราเดิม)

3.การสื่อสารและอื่นๆ โปรโมชั่นพิเศษค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตสำหรับบุคลากรสาธารณสุข

รายละเอียดตามมติ ครม. 7 เมษายน 2563 มีดังนี้ 

เรื่อง ขออนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำนวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ไปพิจารณาในรายละเอียดซึ่งรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

สาระสำคัญ

ตามที่ประเทศไทยได้มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 และกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 โดยยึดหลัก “ชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ” ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริการสุขภาพในเวลาจำกัด เพื่อรองรับการเร่งค้นหาตรวจคัดกรองวินิจฉัยและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง ที่แม้จะมีการเพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ หรือจำนวนเตียงผู้ป่วย แต่หากกำลังคนมีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ จะไม่สามารถทำให้ผู้ป่วย และประชาชนมีความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอัตรากำลังอยู่เพียงร้อยละ 70 ของกรอบความต้องการ จึงประสบปัญหาความขาดแคลนรุนแรงมากขึ้นในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

ดังนั้น เพื่อรองรับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของภาระงานจากการระบาดของโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงมีภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการเพิ่มขีดความสามารถด้านกำลังคนให้มีจำนวนเพียงพอ และมีสมรรถนะเหมาะสมในการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งการส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจ้างงานบุคลากรที่ให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อโดยตรง และสายงานสนับสนุนงานตรวจรักษาวินิจฉัยคัดกรองที่ต้องสัมผัสกับเชื้อโรค ได้แก่ แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสหวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริการด้านสาธารณสุข ในระบบการจ้างงานทางเลือก ซึ่งบุคลากรเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม และสั่งสมประสบการณ์การทำงานในสาขาวิชาชีพ เป็นกำลังหลักในการปฏิบัติงานด่านหน้าที่จะต้องทำงานเป็นเวรผลัดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเป็นกำลังหลักในการหมุนเวียนไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์พบว่า บุคลากรในระบบการจ้างงานทางเลือกดังกล่าว มีอัตราการลาออกจากงานและอาจเป็นปัจจัยผลักให้บุคลากรกลุ่มนี้ลาออกในช่วงที่ประเทศประสบภาวะวิกฤตขาดแคลนกำลังคน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องขออนุมัติตำแหน่งข้าราชการอัตราตั้งใหม่ เพื่อบรรจุบุคลากรดังกล่าวเป็นข้าราชการ รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานท่ามกลางความเสี่ยง มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายต่อระบบบริการสุขภาพและประชาชน