ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สงขลา” นำร่องเครือข่ายโรงแรมในพื้นที่ เปิดเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วย “โควิด-19” กลุ่มอาการดี เคลียร์พื้นที่ รพ. ไว้รองรับผู้ป่วยอาการหนัก - ลดภาระทีมแพทย์ ให้สามารถทุ่มกำลังดูแลเคสวิกฤติ เช่น ผู้ป่วยปอดบวม มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีโรคประจำตัว ได้อย่างเต็มที่

นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินี ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา กล่าวถึงแนวทางการจัด Hospitel ผ่อนภาระโรงพยาบาล ผ่านโครงการ "Saveโรงแรม Saveโรงพยาบาล Saveชุมชน” ระบุว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ถือเป็น Red Zone ที่มีการแพร่ระบาดไม่น้อยกว่าในพื้นที่ กทม. ประกอบกับบริบทเชิงพื้นที่ ที่ทำให้การกักตัวอยู่บ้านค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยสภาพของครอบครัวไทยอาจไม่สามารถกักตัว หรือเว้นระยะห่างกันได้ตามความเหมาะสม จึงเป็นจุดเริ่มต้นโครงการในพื้นที่ โดยมีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิชาการ รวมถึงภาคธุรกิจและประชาสังคม เข้ามาหนุนเสริม ภายใต้การบริหารงานแบบวิชาการนำในการจัดการ ซึ่งขณะนี้ได้แบ่งดำเนินการออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. การเซทโรงพยาบาลบางแห่ง เป็นโรงพยาบาลสนาม ในลักษณะ Isolation Camp โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแกนหลักในดูแล

และ 2. การหาพื้นที่อื่นนอกโรงพยาบาล มาเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยที่อาการดีแล้ว อยู่ในระยะเฝ้าระวังให้ครบ 14 วันตามแนวปฏิบัติ ซึ่ง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เปรียบเสมือนหัวเมืองหลักทางใต้ มีโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ ต้องปิดตัวหลายแห่ง ทำให้ พนักงานต้องเดินทางกลับบ้าน เกิดการเคลื่อนย้าย กระทบต่อมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะเดียวกันหลายคนก็ไม่อยากกลับไปบ้าน เนื่องจากมีผู้สูงอายุ จึงกลายมาเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไร ให้โรงแรมอยู่รอด และพนักงานยังมีเงินเดือน จึงมีแนวคิดให้โรงแรมช่วยดูแลคนไข้ติดเชื้อในระยะที่อาการดีแล้ว เช่น อยู่ที่โรงพยาบาล 5-7 วัน และอาการเริ่มดีขึ้น ไม่มีโรคแทรกซ้อนอะไร ให้ย้ายมาเฝ้าระวังให้ครบ 14 วัน ในโรงแรม

เมื่อประสานข้อมูลไปปรากฎว่าโรงแรมในหาดใหญ่ ตอบรับเข้าร่วมแล้ว 6 แห่ง ผู้ประกอบการมองว่าเป็นโอกาสในการปรับตัว เพราะมองว่าสถานการณ์ระบาด จะยังส่งผลกระทบต่อไปไม่น้อยกว่า 1 ปี แนวทางนี้เป็นการสำรองเตียงให้กับกลุ่มผู้ป่วย รวมทั้งลดภาระหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาล เคลียร์พื้นที่ไว้รองรับผู้ป่วยอาการหนักวิกฤติ เคสเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้ป่วยปอดบวม มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีโรคประจำตัว

ทั้งนี้ เหล่า พนักงานบริการของโรงแรม ที่จะเข้ามาทำหน้าดูแลผู้ป่วยนั้น จะผ่านการจัดการฝึกอบรมการปฏิบัติงาน โดยทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ มีการสอนและถ่ายทอดความรู้ผ่านระบบออนไลน์ โดยพนักงานแต่ละคนจะเข้ามาเรียนหลักสูตรคนละ 2 ชั่วโมง รวมถึงการฝึกปฏิบัติ โดยทีมผู้ฝึกสอนจะเดินทางไป ตรวจสอบการปฏิบัติงานต่อหน้า ว่าสามารถทำได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทุกคนช่วยกันอย่างเต็มที่

สำหรับการทำความเข้าใจกับคนและชุมชนรอบข้างโรงแรม เราได้ทำงานควบคู่ไปทีมผู้นำชุมชนด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจและตกลงร่วมกันว่า พร้อมที่จะให้โรงแรมนั้นๆ เข้าร่วมโครงการหรือไม่ ซึ่งประเด็นหลักที่ชาวบ้านกังวล คือการจัดการขยะติดเชื้อ การจำกัดพื้นที่ผู้ป่วยจะทำอย่างไร ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจ และวางกรอบกติกาแนวทางบริหารจัดการร่วมกัน

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ขณะนี้ที่ อ.สะเดา มีพื้นที่รองรับ 400 กว่าห้อง และจากการลงพื้นที่สำรวจความพร้อม โรงแรมที่ อ.หาดใหญ่ มีเพิ่มเติมอีกประมาณ 70 ห้อง โดยในส่วนการคิดค่าบริการนั้น สามารถเบิกได้ตามสิทธิของตน โดยโรงแรมจะเรียกเก็บจากโรงพยาบาล และโรงพยาบาลก็ส่งเคลมไปตามสิทธิของผู้ป่วย” นพ. สุวัฒน์ กล่าว