ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรม ร่วมกับหลายภาคส่วนประชุมรับมือผลกระทบโควิด-19 ส่งผลต่อการผลิตยา คาดไม่เกิน 1 เดือนขาดแคลนหนัก พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาแก่รัฐบาล 5 ข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นมียาใช้เพียงพออย่างต่อเนื่อง

สภาเภสัชกรรม ร่วมกับหลายภาคส่วนประชุมรับมือผลกระทบโควิด-19 ส่งผลต่อการผลิตยา พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาแก่รัฐบาล 5 ข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นมียาใช้เพียงพออย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้จัดประชุมโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคราชการและเอกชน เพื่อหารือถึงปัญหาการระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการและกระจายยา โดยเฉพาะยาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่จำเป็นต้องใช้ยา และบางรายการต้องใช้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตและการนำเข้ายามีปัญหาจากการระบาดของโรค และล่าสุดได้มีการแจ้งจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ถึงรายการยาที่ อภ.ขาดจำหน่าย 1 เดือน และมากกว่า 1 เดือน และมีข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยาแห่งประเทศไทยได้สรุปปัญหาการจัดหาวัตถุดิบยา จึงจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดระบบการบริหารจัดการต่างไปจากภาวะปกติ เนื่องจากการระบาดของโรคกระจายไปทั่วโลก และขณะนี้ระบาดหนักในประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยาและผลิตภัณฑ์ยารายใหญ่ ไม่ว่า จีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรม แจ้งต่อสื่อมวลชนถึงผลการประชุม ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอรัฐบาลในการจัดการ ดังนี้

1.รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไกกลางในการจัดหาและกระจายยาในรายการที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบาย ระดับบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา

2.กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน แต่ทยอยการจัดส่งทุก 1-2 เดือน เพื่อให้โรงงานเตรียมจัดหาวัตถุดิบในการผลิตล่วงหน้า

3.ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินให้รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 เดือนหลังจากได้รับใบแจ้งหนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสามารถสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือนที่นานกว่าการสำรองปกติที่ 3 เดือน

4.ในกรณีจำเป็นตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้รัฐบาลประสานกับประเทศจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อซื้อวัตถุดิบยาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์

5.ให้อุตสาหกรรมยาสำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือนรวมทั้งองค์การเภสัชกรรม

สภาเภสัชกรรมได้ระบุว่า ปัญหาการเข้าถึงยาโรคเรื้อรังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขโดยด่วนเช่นเดียวกับการบริหารจัดการรายการยาสำหรับโรคโควิด-19 ไม่เช่นั้น อีกไม่ถึงเดือน จะเกิดปัญหาโกลาหลของห้องยาและผู้ป่วยอย่างแน่นอน