ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เกิดคำถามกันมากกรณีการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้รักษาหายแล้ว กระทั่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกมาชี้แจงว่า เชื้อที่พบเรียกว่า ซากไวรัส ซึ่งไม่มีความสามารถในการแพร่โรค แต่อาจพบได้ ดังนั้น เมื่อหายแล้วเพื่อความมั่นใจจึงให้กักตัวเองอีก 14 วันที่บ้านตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น

ล่าสุดวันที่ 16 เม.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า

โควิด 19 เรารักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษากระดาษ การตรวจพบเชื้ออยู่นาน หรือ ในรายที่เป็นลบ แล้วตรวจพบใหม่อีก ดังที่เป็นข่าว บางรายตรวจพบเชื้ออยู่ได้นาน หลายสัปดาห์ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การตรวจเชื้อในปัจจุบันนี้ จะตรวจหาพันธุกรรมของไวรัสหรือ RNA ของไวรัสด้วยวิธี real-time RT PCR วิธีการดังกล่าวมีความไวสูงมาก เช่นมีไวรัสเพียง 10 - 100 ตัวก็ตรวจพบได้ เพราะการตรวจเป็นการขยายพันธุกรรม ขึ้นมาเป็น 2 ยกกำลัง 40 เช่นไวรัส 1 ตัวหรือ DNA 1 เส้น สามารถเพิ่มปริมาณไวรัส DNA ให้เป็น 2 ^ 40 เส้น ก่อนทำการวัด (เราลองคำนวณดูว่ามีกี่เส้น)
 

ผู้ป่วย โควิด 19 ในระยะแรก ที่ได้ทำการตรวจมามาก จะพบว่ามีปริมาณไวรัสสูงมากจริงๆ จึงเป็นเหตุให้ทำไมโรคนี้ติดต่อกันง่ายมาก ในการเพิ่มจำนวนบางครั้ง แค่ 10 รอบ (2 ยกกำลัง 10) เราก็ตรวจพบแล้ว แสดงว่ามีไวรัสต้นทุนอยู่มากแค่ยกกำลังนิดหน่อยก็ตรวจพบแล้ว ถ้าได้ติดตามผู้ป่วย แม้จะเข้าอาทิตย์ที่ 2 ที่ 3 ถ้าปริมาณไวรัสลดลงเรื่อยๆ จำนวนรอบในการตรวจหรือเพิ่มจำนวน ก็จะสูงขึ้นเช่น ตรวจพบที่จำนวนรอบ ยกกำลังที่ 37 และ 38 หรือในเชิงปริมาณหมายความว่ามีไวรัสน้อยลงไปเรื่อยๆ (คงจะเข้าใจยากสักนิด นี่แหละทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์) ถ้าเข้าสู่อาทิตย์ที่สอง ไวรัสน้อยกว่าที่ 1 อาทิตย์ที่ 3 ไวรัส น้อยกว่าที่ 2
และน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็ถือเป็นภาวะปกติของผู้ป่วย

ภาพจากเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan

ผู้ป่วยที่ตรวจถึง 6 ครั้ง แล้วยังตรวจพบอยู่ ถ้าเรียงลำดับ พบว่าไวรัสน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะเป็นไปได้ ทำนองเดียวกันในบางครั้งการตรวจให้ผลลบแล้ว เมื่อติดตามต่อไปเกิดได้ผลบวก เราก็คงจะต้องดูปริมาณไวรัส ในทางอ้อม เช่นปริมาณไวรัสน้อยมาก หรือใกล้ตกขอบที่จะเป็นบวก ก็ถือว่าเป็นเรื่องเป็นไปได้ เพราะการตัดสินใจว่าเป็นบวกหรือลบ เราถืออยู่ที่เส้นเส้นนึง และถ้าอยู่ใกล้เส้นที่จะเป็นบวกหรือลบ ก็คงไม่แปลก ดังนั้นในรายที่เป็นลบ แล้วมาตรวจใหม่เป็นบวก ถ้าปริมาณไวรัสน้อยมาก ใกล้เส้นบวกลบ
ก็ขอให้สบายใจ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าผู้ป่วยไปติดมาใหม่ เพราะการตรวจในห้องปฏิบัติการ ในระดับ DNA เป็นการตรวจที่ไวมาก เพียงเศษของ DNAไม่กี่เส้น เราสามารถขยายขึ้นมาให้ตรวจพบได้ และ สิ่งที่สำคัญจะต้องรู้ว่า สารพันธุกรรมที่ตรวจพบนั้น ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ สามารถทำได้ด้วยการเพาะเชื้อ ว่าไวรัสยังสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้หรือไม่ บนเซลล์เพาะเลี้ยง

ดังนั้น การแปลผลแลป เราจะไม่แปลผลแลปครั้งเดียว เราคงต้องดูครั้งก่อนหน้านั้นมาประกอบด้วย โดยเฉพาะในเชิง กึ่งปริมาณ สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการ หลังกลับบ้าน คนไข้ต้องเก็บตัว ที่รัฐจัดให้ หรือที่บ้านอย่างเคร่งครัดอีกอย่างน้อย 14 วัน ไม่ให้เชื้อที่อาจหลงเหลือ แพร่กระจายได้ การดูแลรักษาผู้ป่วย เราไม่ได้รักษากระดาษ ที่บอกผลมาว่าเป็น บวก หรือ ลบ เรารักษาคนไข้ ถ้าคนไข้ดีปกติทุกอย่าง เราก็พอใจมากกว่ากระดาษจะเป็นบวกหรือลบ