ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 16 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยถึงวิธีทางระบาดวิทยาในการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม กรณีพบผู้ป่วยยืนยันอย่างน้อย 1 รายขึ้นไป ว่า ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ 1. การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด (Close contact tracing) 2.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก(Active case finding) และ3.การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน โดยจากกรณีศึกษาจากภูเก็ตที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยและเข้ารับการตรวจเชื้อพบอัตราการเป็นผลบวก 4.5% แต่หากตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะขึ้นมา 6.24% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงมาก ดังนั้น คนความเสี่ยงต่ำโอกาสพบผลบวกยิ่งน้อยลง แต่เมื่อเราทำงานได้ดีขึ้น บุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่ให้ความร่วมมือหยุดเชื้ออยู่บ้าน ก็ต้องขอขอบคุณ มีส่วนช่วยให้ตัวเลขลดลงได้ แต่เมื่อมีตัวเลขลงลง ก็ยิ่งต้องมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยให้เข้มข้นมากขึ้น

“ ภูเก็ต เป็นกรณีศึกษาที่ทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก(Active case finding) เพิ่มเติมจากการหาผู้สัมผัสใกล้ชิด และต่อไปจากนี้เมื่อเรามีการตรวจหาห้องปฏิบัติที่ดีมากขึ้น การค้นหาผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการในระดับชุมชน ก็จะเป็นมาตรการต่อไป ดังนั้น เมื่อตัวเลขผู้ป่วยน้อยลง แต่การทำงานเราจะลดลงไม่ได้ พี่น้องประชาชนก็เช่นกันต้องปฏิบัติเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลเช่นเดิม” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

นพ.อนุพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีการดำเนินการ 3 มาตรการ ว่า กรณีเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 การทำ Contact traching ก็จะดำเนินการโดยทีมสอบสวนโรค และเมื่อตามแล้วก็จะได้จำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ใกล้ชิด แต่อีกจำนวนหนึ่งอยู่ในชุมชน ซึ่งอาจไม่ใกล้ชิดและหลายคนคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ กรณีนี้จำเป็นต้องค้นหาเชื้อในชุมชนด้วย เพราะตามแผนการรักษาได้กำหนดให้คนที่อาการไม่รุนแรง ต้องอยู่รพ. 14 วัน จากนั้นต้องดูแลตัวเองจนครบ 30 วันนับตั้งแต่มีอาการ

“ดังนั้น จากการติดเชื้อของคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น จากเดือนมีนาคม 8% พุ่งขึ้นสูงถึง 23 % ในเดือนเมษายน จึงต้องเน้นย้ำว่า ใครก็ตามที่อยู่ในบ้านและออกไปนอกบ้าน แต่ไม่ระมัดระวัง ก็สมควรต้องแยกตัวเอง 14 วัน เพราะไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงนำเชื้อมาติดผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อติดแล้วจะเสี่ยงเสียชีวิต” นพ.อนุพงษ์ กล่าว

สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง หรือ High risk contact แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มสัมผัสที่เก็บตัวอย่างแม้ไม่มีอาการ

-สมาชิกร่วมบ้านทุกคน

-บุคลากรทางการแพทยืหรือสาธารณสุขที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโดยไม่ได้สวม PPE ที่เหมาะสม

-ผู้คลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยอย่างชัดเจนโดยไม่ได้สวมหน้ากากป้องกัน

2.กลุ่มสัมผัสที่เก็บตัวอย่างเมื่อมีอาการ

-ผู้ท่องเที่ยวร่วมกลุ่ม

-ผู้โดยสารแถวเดียวกัน+ 2 แถวหน้า+2แถวหลัง

-พนักงานบนเครื่องบิน โซนที่ผู้ป่วยนั่ง

-เจ้าหน้าที่ด่านที่ตรวจผู้ป่วย

-ผู้ป่วยอื่นที่อยู่ห้องเดียวกัน

-ผู้ร่วมงาน ร่วมโรงเรียนที่พบปะกับผู้ป่วย