ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 16 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทุกประเภทประมาณ 2,020,000 คน ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน คนกลุ่มนี้จะมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต การเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่สำคัญคือมีรายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ มาก เมื่อเกิดการระบาดของโรคจึงทำให้ลำบากทั้งตัวผู้พิการและผู้ดูแล ดังนั้น สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จึงร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการดูแลช่วยเหลือประชากรกลุ่มดังกล่าว โดยนำร่องการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ให้ผู้พิการ ส่วนที่ยังต้องไปรพ.นั้น ปกติเราจะมีจุดบริการเบ็ดเสร็จแยกสำหรับผู้ป่วยอยู่แล้ว ขณะที่อุปกรณ์เกี่ยวกับผู้พิการสามารถเบิกได้ตามสิทธิตามปกติ

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า กรมการแพทย์ ได้ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดาจัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดูแล ป้องกัน รักษาโรคโควิด-19 ให้เข้าถึงคนพิการทุกประเภทและผู้ดูแล เช่น จัดทำตัวอักษรวิ่ง/ ภาษามือสำหรับคนพิการทางการได้ยิน จัดทำสื่ออักษร/ เสียงสำหรับคนพิการทางการมองเห็น พร้อมเปิดช่องทางให้คำปรึกษาการดูแลคนพิการ ทางหมายเลขโทร 0 2591 4242 ต่อ 6734 6728-9 หรือสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 มีเครือข่าย อสม. และเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ออกเยี่ยมบ้าน ซึ่งจะส่งต่อข้อมูลมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการที่ได้รับผลกระทบ และสามารถขอความช่วยเหลือ ร้องทุกข์ได้ที่สายด่วนศูนย์ประชาบดี โทร 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

“ เราจะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด -19 ทั้งภาษามือ อักษรเบล และมีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ลงไปเคาะประตูบ้าน ให้การดูแล และรับฟังปัญหาของผู้พิการที่ยังต้องการการช่วยเหลือเบื้องต้นพบว่า ผู้พิการต้องการอุปกรณ์สำหรับป้องกันเชื้อ อาทิ หน้ากาก เจลล้างมือ อยากมีรายได้ และสิทธิในการได้รับเงินเยียวยา เป็นต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และ พม.พยายามให้การช่วยเหลือและจัดส่งอุปกรณ์ป้องกันตัวให้แล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้รับสามารถแจ้งกับ อสม.ได้ นอกจากนี้ ในส่วนของ พม.อยู่ระหว่างขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้พิการเพิ่ม 1 พันบาท 1 ครั้ง การพักชำระหนี้ตั้งแต่เม.ย.63-มี.ค.64 และการกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพ 10,000 บาท และหากมีปัญหาอะไรสามารถโทรแจ้งที่สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 และสายด่วน พม. 1300.” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานพยาบาล แม้ขณะนี้ ยังไม่พบรายงานคนพิการติดเชื้อโควิด-19 สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟู ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ได้แก่ การคัดกรองประเมินความเสี่ยงก่อนเข้ารับบริการ พิจารณาเลื่อนบริการและปรับรูปแบบบริการในกลุ่มมีความเสี่ยงสูง ปรับเพิ่มระบบบริการสำหรับคนพิการโดยจัดบริการการดูแลฟื้นฟูตามประเภทและระดับความพิการ ได้แก่ ให้บริการเลื่อนนัดทางโทรศัพท์ การให้คำแนะนำ/บริการทางการแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-Medicine) การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ รวมทั้งจัดบริการช่องทางลงทะเบียนที่สะดวกสำหรับคนพิการ เพื่อรับเงินบรรเทาความเดือดร้อนจากรัฐบาลและมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม