ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของ COVID-19 ย้ำให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมกำลังบุคลากรสาธารณสุขทั่วโลก รายงาน The State of the World’s Nursing 2020 ชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงลึกจากพยาบาลอันเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุดของบุคลากรสาธารณสุข โดยเผยให้เห็นปัญหาสำคัญของพยาบาลและความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มงบประมาณด้านการฝึกอบรมพยาบาล การประกอบอาชีพ และความเป็นผู้นำเพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่พยาบาลทั่วโลกและยกระดับการสาธารณสุขถ้วนหน้า

พยาบาลมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของบุคลากรสาธารณสุขทั่วโลกและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในระบบสุขภาพ ทั้งเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาดที่คุกคามสุขภาพของประชาชนทั่วทุกหัวระแหง พยาบาลได้แสดงให้เห็นแล้วถึงความทุ่มเทและกล้าหาญในการต่อสู้กับการระบาดของ COVID-19 และไม่เคยมีครั้งใดที่คุณค่าของพยาบาลจะปรากฎเด่นชัดดังในช่วงเวลานี้เลย

ดร.เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่อนามัยโลกชี้ว่าพยาบาลเป็นกระดูกสันหลังของระบบสุขภาพ พยาบาลจำนวนมากกำลังปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้าของการทำสงครามกับ COVID-19 รายงาน The State of the World’s Nursing 2020 ตอกย้ำว่าพยาบาลมีบทบาทสำคัญเพียงใด และจี้ให้เห็นความสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลเพื่อที่จะช่วยให้คนทั้งโลกมีสุขภาพที่ดี

รายงานซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่างอนามัยโลก สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (ไอซีเอ็น) และองค์กรเนิร์สซิงนาวระบุว่าปัจจุบันมีพยาบาลราว 28 ล้านคนทั่วโลก แม้จำนวนพยาบาลเพิ่มขึ้น 4.7 ล้านคนระหว่างปี 2556 – 2561 แต่ก็ยังขาดแคลนพยาบาลอีกราว 5.9 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบางส่วนในละตินอเมริกา

กว่าร้อยละ 80 ของพยาบาลทั่วโลกปฏิบัติหน้าที่ในประเทศซึ่งมีประชากรรวมกันราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลก พยาบาลหนึ่งในแปดปฏิบัติหน้าที่ในประเทศอื่นนอกเหนือจากมาตุภูมิหรือประเทศที่ศึกษาวิชาพยาบาล อายุก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บั่นทอนจำนวนพยาบาลโดยพบว่าหนึ่งในหกของพยาบาลทั่วโลกจะเกษียณอายุในสิบปีข้างหน้า

รายงานประเมินว่าการจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลนั้นจำต้องเพิ่มจำนวนพยาบาลให้ได้เฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ร่วมกับยกระดับการจ้างงานและรั้งตัวพยาบาลไว้ในระบบสุขภาพ โดยคาดว่ามาตรการนี้จะต้องใช้งบประมาณราว 10 ดอลลาร์ต่อประชากรต่อปี

“นักการเมืองต่างเข้าใจเรื่องต้นทุนในการผลิตและรั้งตัวพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ แต่พวกเขาก็เพิ่งมาตระหนักคุณค่าของพยาบาลอย่างแท้จริงก็ในวันนี้” แอนเน็ต เคนเนดี ประธานไอซีเอ็นกล่าว “เป็นที่ประจักษ์แล้วว่างบประมาณที่ใช้ไปกับการพยาบาลนั้นตอบแทนกลับมาในรูปของการส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน รายงานนี้ได้ตอกย้ำบทบาทของพยาบาลและยืนยันว่าการลงทุนในวิชาชีพพยาบาลนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมและไม่ใช่ต้นทุน โลกจำเป็นต้องเพิ่มพยาบาลอีกหลายล้านคนและเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วยการลงทุนในวิชาชีพพยาบาลเพื่อที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากงานซึ่งมีแต่พยาบาลเท่านั้นที่จะทำได้”

ราวร้อยละ 90 ของพยาบาลเป็นผู้หญิงและมีพยาบาลเพียงหยิบมือที่สามารถขึ้นไปสู่ระดับบริหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นของผู้ชาย แต่สถานการณ์ก็ดูดีขึ้นเมื่อหลายประเทศไฟเขียวให้พยาบาลมีบทบาทเป็นผู้บริหารการพยาบาลเขตบริการสุขภาพ (หรือเทียบเท่า) และโครงการสนับสนุนบทบาทของพยาบาล

“รายงานฉบับนี้เป็นหลักฐานที่ย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความเป็นผู้นำของพยาบาล พัฒนาวิชาชีพพยาบาล และการฝึกอบรมพยาบาลให้พร้อมสำหรับวันข้างหน้า” ลอร์ด ไนเจล คริสป์ กรรมการร่วมขององค์กรเนิร์สซิงนาวกล่าว “เราเชื่อว่าทุกประเทศสามารถปรับนโยบายตลอดสิบปีข้างหน้าเพื่อที่จะสร้างพยาบาลให้เพียงพอกับความต้องการ โดยต้องไม่ลืมว่าพยาบาลนั้นต่างทุ่มเทความรู้และความเชี่ยวชาญเพื่อที่จะยกระดับการให้บริการสาธารณสุขมูลฐานและตอบสนองกับสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข เช่น COVID-19 ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมหารือโดยคำนึงถึงบทบาทของพยาบาลในบริบทต่างๆ ทั้งระบบสุขภาพของประเทศ กำลังคน และความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุข”

อนามัยโลกและเครือข่ายแนะนำแนวทางการเพิ่มบุคลากรพยาบาลดังนี้

1.เพิ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาและการจ้างพยาบาล

2.เพิ่มศักยภาพการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนด้านสาธารณสุข รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้

3.ติดตามการย้ายถิ่นของพยาบาลและจัดการด้วยความรับผิดชอบและมีจริยธรรม

4.ให้ความรู้และฝึกอบรมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมวิทยาสำหรับพยาบาลในการขับเคลื่อนการสาธารณสุขมูลฐาน

5.จัดตั้งตำแหน่งระดับบริหาร เช่น ผู้บริหารการพยาบาลเขตบริการสุขภาพ และสนับสนุนการพัฒนาความเป็นผู้นำในหมู่พยาบาลรุ่นใหม่

6.สนับสนุนให้พยาบาลในทีมสาธารณสุขมูลฐานทำงานเต็มศักยภาพ เช่น ในด้านการป้องกันและจัดการโรคไม่ติดต่อ

7.พัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานโดยจัดให้มีจำนวนบุคลากรที่เหมาะสม มีรายได้เป็นธรรม และเคารพในสิทธิด้านความปลอดภัยในที่ทำงาน

8.ปรับปรุงนโยบายด้านบุคลากรพยาบาลให้มีความเท่าเทียมทางเพศ

9.ปรับปรุงระเบียบด้านวิชาชีพพยาบาลให้ทันสมัยให้ครอบคลุมทั้งมาตรฐานการศึกษาและการปฏิบัติ และใช้ระบบที่สามารถติดตามข้อมูลของพยาบาลได้ในระดับสากล

10.เสริมสร้างบทบาทของพยาบาลในทีมผู้ดูแลรักษาโดยผ่านการหารือนโยบายและแผนปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างพยาบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา การอพยพ คลัง และแรงงาน

รายงานฉบับนี้ชี้ชัดว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจำเป็นต้องเร่งรัดการลงทุนในด้านการศึกษาของพยาบาล ขยายอัตราพยาบาล และส่งเสริมความเป็นผู้นำของพยาบาล หากปราศจากพยาบาล ผดุงครรภ์ และบุคลากรสาธารณสุขแล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอาชนะโรคระบาด หรือก้าวไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แปลและเรียบเรียงโดย หฤทัย เกียรติพรพานิช

WHO and partners call for urgent investment in nurses : www.who.int