ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 21 เม.ย. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลราชวิถี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ร่วมการประชุมคณะกรรมการการบริหารจัดการและรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมประชุมเพื่อร่วมนำเสนอความรู้ นวัตกรรม และแนวทางการป้องกัน ดูแล รักษา ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งกระบวนการ

นพ.โสภณ เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรม ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองส่วนบุคคล (PPE) ชุดห่อหุ้มตัว (Isolation gown และ coverall) และ N95 respirator เพื่อปกป้องบุคลากรไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ยังต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่ผลิตในประเทศเองยังมีไม่เพียงพอ เพื่อให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองใช้อย่างเพียงพอต่อเนื่องในระยะยาวและประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้

นพ.โสภณ เมฆธน

ทางสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการพบว่าชุด PPE หน้ากาก N95 เกรดที่ใช้กับงานอุตสาหกรรม ( Industrial grade PPE) ให้สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ เช่น การใช้หน้ากาก N95 เกรดอุตสาหกรรมที่มีคุณสมบัติกรองเชื้อโรคได้ดีอยู่แล้ว ใช้ร่วมกับหน้ากากอนามัยชนิด surgical mask เป็นการเพิ่มคุณสมบัติในการกันน้ำ หรือการใช้ชุด PPE แบบ Coverall เกรดอุตสาหกรรม (Industrial grade coverall ) ร่วมกับเสื้อคลุมป้องกันเชื้อ Isolation gown ขณะเดียวกันระยะยาวได้จัดเตรียมชุด PPE ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (reusable coverall) โดยการใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีในประเทศ และผลิตอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับทำการฆ่าเชื้อ N95 respirator ให้พร้อมนำกลับมาใช้งานใหม่ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองใช้อย่างเพียงพอ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในการผลิตชุด PPE ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำนั้น องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุสาหกรรมสิ่งทอ และสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการเพื่อเตรียมการตัดเย็บผลิตชุด PPE แบบซักใช้ซ้ำได้หรือชุดเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown) สำหรับใช้เองภายในประเทศ จำนวน 40,000 ชุด นั้น โดยชุดที่ตัดเย็บต้องผ่านเกณฑ์จากสำนักงานคณะกรมการอาหารและยา(อย.) ขณะนี้ ได้เชิญบริษัทร่วมดำเนินการที่มีศักยภาพ 12 ราย มาทำความเข้าใจเรื่องคุณภาพการตัดเย็บและรายละเอียดการผลิตอื่น ๆ โดยผ้าที่ใช้ตัดเย็บอยู่ระหว่างรอผลทดสอบประสิทธิภาพการซักซ้ำ และเมื่อทำการตัดเย็บแล้วจะทดสอบคุณภาพทั้งชุดอีกครั้ง หลังจากผ่านการทดสอบคุณภาพแล้วจะทำการตัดเย็บในจำนวนมากๆ ต่อไป คาดว่าจะทำให้มี ชุด PPE แบบ Isolation Gown ทดแทนได้ถึง 800,000 ชุด / ครั้ง จากความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงถือได้ว่า PPE ที่ผลิตนี้เป็น “PPE รุ่นเราสู้”

นอกจากนั้น โครงการ Save Our Medical Staff from COVID -19 หรือ SOS โดยมี รอ.นพ.นิมิต ประสิทธิ์ดำรง แพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.ผู้สูงอายุ The Senizens และคณะ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้ประยุกต์และผลิตตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย N95 ด้วยแสง UVC ซึ่งผ่านการทดสอบประสิทธิภาพฆ่าเชื้อ COVID-19 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว โดยการอบฆ่าเชื้อ ไม่กระทบต่อโครงสร้างหน้ากากและประสิทธิภาพในการกรองเชื้อ ไม่มีสิ่งตกค้างที่เป็นอันตราย เพียงมีกลิ่นโอโซนในระดับปลอดภัย นำมาสวมใส่ได้ทันที สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ขณะนี้ได้ส่งมอบให้กับสถานพยาบาลที่มีความจำเป็นแล้ว 60 ตู้ และผู้ผลิตได้เร่งผลิตอีก 900 ตู้ โดยองค์การเภสัชกรรมจะจัดส่งไปยังโรงพยาบาลตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป