ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลายเป็นประเด็นติดเทรนด์ทวิตเตอร์กับแฮชแทก #จับฉลากแพทย์ใช้ทุน หลังจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการทดสอบระบบจับฉลากแพทย์ใช้ทุนผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน ก่อนใช้งานจริงในเดือนพฤษภาคม 2563 นี้

สืบเนื่องจากทุกปีการจับฉลากแพทย์ใช้ทุน กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นเหมือนตัวกลางในการประสานให้โรงพยาบาลในจังหวัดที่เปิดรับแพทย์ และตัวนักศึกษาแพทย์เองมาเจอกัน และนักศึกษาแพทย์สามารถเลือกโรงพยาบาลที่ตนจะเข้าไปทำงานใช้ทุนได้ตามโควต้าที่โรงพยาบาลนั้นๆ กำหนด ยกเว้นว่า หากโควต้าเกินก็ต้องจับฉลากเพื่อคัดเลือก ซึ่งตามปกติจะจับฉลากต่อหน้า แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถมารวมกลุ่มกันจับฉลากแพทย์ใช้ทุน จำนวนกว่าพันคนได้ ทำให้ต้องมีการจับฉลาดผ่านระบบออนไลน์จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการจับฉลากครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของนักศึกษาแพทย์ได้โพสต์ถึงปัญหาจากการจับฉลากผ่านออนไลน์ อาทิ

- การทดลองระบบจะเป็นการกรอกข้อมูลลง google form ซึ่งไม่ update realtime ไม่สามารถเห็นข้อมูลคนอื่นว่าใครลงพื้นที่ไหนบ้าง

- เมื่อลงเลือกแล้ว จะมีการใช้ระบบการหาคะแนน โดยใช้ เลขบัตรประจำตัวประชาชน หากด้วยเลขตัวหนึ่ง และจะมีการสุ่มเป็นเลข 2 หลัก และทศนิยม 1 ตำแหน่ง และหารดัวยเลข 4 หลักแรกของทศนิยมจากผลหารมาเป็นคะแนนจริง ซึ่งประเด็นตรงนี้มีโอกาสในการตกในช่วงต่างกันค่อนข้างมาก อาจทำให้เสียเปรียบ
-หากเลือกพื้นที่แล้วและได้รับเลือก จะไม่สามารถสละสิทธิ์ได้ หากสละสิทธิ์จะถูกตัดสิทธิ์ทันที

- เขตสุขภาพที่ 1 และ 2 รวมทั้งทางใต้ไม่สามารถเลือกได้ แต่กลับกันที่ไว้ให้แพทย์จบจากเอกชน และ แพทย์ที่เรียนโควต้าต่างประเทศ มาลงแทน ฯลฯ

ล่าสุดวันที่ 23 เม.ย. นพ.ชวศักดิ์ กนกกัณฑพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว Hfocus ว่า การที่ต้องมีการจับฉลากแพทย์จบใหม่ผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากติดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถไปรวมตัวกันจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดลองระบบการจับฉลากครั้งนี้ มีตำแหน่งรองรับครบทั้งหมดประมาณ 2,000 คน ดังนั้น ทุกคนจะได้ลงพื้นที่ใช้ทุนทั้งหมด เพียงแต่สถานที่ที่เลือกจะต้องคละกันไปในแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการบุคลากรในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นไปตามภาระงานของโรงพยาบาลนั้นๆ หรือที่เรียกว่า FTE (Full-time equivalent)

สำหรับประเด็นต่างๆ ทาง สบพช. พร้อมรับไปพิจารณา แต่ขอทำความเข้าใจในเรื่องการจัดแบ่งกลุ่มแพทย์ว่า โดยปกติกลุ่มนักศึกษาแพทย์มีหลายกลุ่ม หลักๆ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. แพทย์โครงการปกติ

2. แพทย์จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

3.โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน(ODOD)

4.แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

5.แพทย์พี่เลี้ยง

“โดยการจับฉลากนั้นจะเป็นในกลุ่มที่ 1 และ 2 เนื่องจากแพทย์โครงการODOD ต้องกลับไปใช้ทุนตามพื้นที่ของตน ส่วนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก็เช่นกัน ขณะที่แพทย์พี่เลี้ยงอยู่ตามศูนย์แพทย์สอนนักศึกษา เป็นต้น ซึ่งรวมๆทั้งหมดจะมีประมาณ 2,000 คน โดยเป็นแพทย์โครงการปกติประมาณ 600-700 คน โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทอีกประมาณ 1,000 คน จะเห็นได้ว่ากลุ่มแพทย์ต่างๆจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน การลงพื้นที่ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจับฉลากนั้น ขณะนี้มีโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆที่มีความต้องการแพทย์ตามค่า FTE รวม 150 พื้นที่(รอบแรก) ซึ่งทุกคนสามารถเลือกพื้นที่ได้ โดยระบบจะเปิดข้อมูลว่าพื้นที่ไหนต้องการแพทย์จำนวนเท่าไหร่ และเมื่อกรอกข้อมูลความต้องการก็จะทำให้ทราบว่า เหลือแพทย์เท่าไหร่ และเราอยู่ลำดับไหน หากเกินโควตาก็ต้องจับฉลากด้วยระบบคอมพิวเตอร์” นพ.ชวศักดิ์ กล่าว

-ส่วนคำถามจากน้องๆแพทย์จบใหม่ระบุว่า การทดลองระบบจะเป็นการกรอกข้อมูลลง google form ซึ่งไม่ update realtime ไม่สามารถเห็นข้อมูลคนอื่นว่าใครลงพื้นที่ไหนบ้าง

นพ.ชวศักดิ์ กล่าวว่า เรามีระบบที่สามารถบอกได้ว่า ขณะนี้โควตาแต่ละโรงพยาบาลเหลือเท่าไหร่ คุณสามารถเข้าไปเลือกได้ว่า จะยืนเพื่อรอจับฉลากหากโควตาเต็ม หรือจะไปเลือกพื้นที่อื่นได้

- มีความต้องการให้ปรับระบบการจับฉลากแพทย์จบใหม่ เนื่องจากมองว่าระบบที่มีการนำเลขประชาชนมาหาร และคำนวณทศนิยมจนเหลือคะแนะอาจทำให้มีช่วงต่างของคะแนนหรือไม่

นพ.ชวศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมงานกำลังเตรียมข้อมูลว่า จะมีวิธีไหนเพิ่มเติม ซึ่งเสนอเข้ามาได้ เราพร้อมพิจารณา แต่ระบบที่นำมาใช้ก็เป็นระบบมาตรฐาน

- มีคำถามว่า เขตสุขภาพที่ 1 และ 2 รวมทั้งทางใต้ไม่สามารถเลือกได้ แต่กลับกันที่ไว้ให้แพทย์จบจากเอกชน และ แพทย์ที่เรียนโควต้าต่างประเทศ มาลงแทน

นพ.ชวศักดิ์ กล่าวว่า ไม่จริงเลย ทั้งเขต 1 และเขต 2 มีพื้นที่ให้เลือก ยิ่งภาคใต้ เดิมคิดว่าคนจะไม่เลือกมากนัก โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนใต้ แต่ปรากฏว่าคนเลือกเยอะ ที่เลือกน้อยจะเป็นเขตทางภาคอีสาน อย่างเขตพื้นที่ 8 อย่างจ.เลย จ.สกลนคร ฯลฯ และเขตพื้นที่ 10 จ.ศรีสะเกษ มุกดาหาร ฯลฯ

ขอย้ำว่า โรงพยาบาลแต่ละพื้นที่ที่เปิดให้เลือกให้จับฉลากแพทย์จบใหม่นั้น มาจากการคำนวณตามภาระงาน หรือค่า FTE อย่างกรณีให้แพทย์จบใหม่จากเอกชนมาร่วมคัดเลือก เนื่องจากในอดีตเคยมีการขออัตราตำแหน่งกับทาง ก.พ. เพื่อให้แพทย์จบใหม่ลงพื้นที่ไปทำงานในชนบท ก็จะมีแพทย์จบจากเอกชนแจ้งความจำนงในการทำงานกับภาครัฐ ซึ่งเราก็มองว่าเป็นเรื่องดี ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 100 คน แต่ปีหน้าอาจไม่มีแล้ว เพราะตำแหน่งจะเน้นให้ทางภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ จริงๆ ในส่วนเอกชนที่ผ่านมาเราจะให้จับฉลากกลุ่มสุดท้าย ให้แพทย์จบจากรัฐมีสิทธิเลือกก่อน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งปวงหากมีข้อคิดเห็นอะไรเสนอเข้ามาได้ ทางสบพช.จะรวบรวมทั้งหมดเพื่อเข้าสู่การประชุมพิจารณาก่อนมีการจับฉลากจริงช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องดังกล่าวจากน้องๆแพทย์จบใหม่ ในฐานะแพทยสภาได้มีการประสานกับทางสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) เพื่อขอให้มีการสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งทาง สบพช. รับทราบและกำลังดำเนินการ ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าระบบออนไลน์ครั้งนี้ เป็นระบบใหม่ บางทีอาจทำให้พึงพอใจทันทีทันใดคงไม่ได้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถมารวมกลุ่มกันจับฉลากแพทย์จบใหม่เหมือนทุกปีได้ ส่วนที่ระบุว่า หมอจบจากต่างประเทศมาจับฉลาก ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า หมอมีหลายกลุ่ม ซึ่งการคัดเลือกจะมีการแยกออกไป แต่ละกลุ่มก็จะมีสิทธิ์ในการลงพื้นที่ไม่เหมือนกัน เรื่องนี้จึงต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกันก่อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง