ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกมาทักท้วงกรณีมติคณะรัฐมนตรี ตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืองบ “บัตรทอง” จำนวน 2,400 ล้านบาทและงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข 1,233 ล้านบาทนั้น

ข่าวเกี่ยวข้อง : จี้รัฐบาลคืนงบ ‘บัตรทอง-สธ.’ ชี้ผิดหลักการ ทำประชาชน-รพ.เดือดร้อน

วันที่ 23 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ ว่า ในส่วนของงบบัตรทอง จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น เป็นการตัดงบประมาณ ในส่วนของเงินเดือนบุคคลากรสาธารณสุขที่เพิ่งได้รับการบรรจุใหม่ 45,684 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 (2) ที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนของเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคคลากร ให้สำนักงบประมาณดูแล

“ยืนยันว่า การตัดงบประมาณส่วนนี้ไม่ได้กระทบต่องบบริการของ สปสช. ที่มีให้กับประชาชนแน่นอน เพราะหากไม่เพียงพอทาง สปสช. สามารถทำเรื่องเสนอของบประมาณสนับสนุนเพิ่มได้ ซึ่งทุกปี ตั้งแต่ปี 61 และ ปี 62 มีการของบประมาณเพิ่ม ปีละ 5,186 ล้านบาท และ 5,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาทาง สปสช.เพิ่งได้รับงบประมาณส่วนกลางอีก 3,260 ล้านบาท มาใช้เป็นบริการจัดการสถานการณ์โควิด -19 อาทิ ค่าตรวจแล็บ เป็นต้น” นพ.สุขุม กล่าว

ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ส่วนงบฯ กระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกตัด 1,233 ล้านบาท นั้น เป็นงบครุภัณฑ์ งบก่อสร้าง หากไม่มีการใช้จ่ายส่วนนี้จะต้องส่งคืนสำนักงบประมาณอยู่แล้ว ซึ่งเนื่องจากว่ามีสถานการณ์โควิด ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนสร้างตึก สร้างอะไรไม่ทัน หรือเป็นงบครุภัณฑ์ไม่ทัน ซึ่งตามกฎหมายต้องคืนสำนักงบประมาณกลับไปอยู่แล้ว โดยตอนนี้ยังไม่มีการประกาศหรือว่ายังไม่ได้ทำการทำสัญญาซื้อหรือก่อสร้างอะไร

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ ทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีขวัญกำลังใจมากขึ้น สามารถลดภาระเงินบำรุงของหน่วยบริการอีกด้วย และมีการจัดนวัตกรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านผ่าน อสม. การขยายบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์จากการได้รับบริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น