ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยเห็นรูปที่แชร์ต่อมาทางแอปพลิเคชันไลน์ เป็นรูปการ์ตูนน่ารัก ๆ เกี่ยวกับหมอฟันพร้อมแคปชันสวัสดีวันต่างๆ เชื้อเชิญให้คนที่มีปัญหาในช่องปาก แอดไลน์เข้าไปขอรับคำปรึกษาจากทันตแพทย์ในช่วงที่คลินิกทันตกรรมปิดให้บริการเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19

บัญชีดังกล่าวเป็น Line Official Account หมอฟันไทยสู้ภัย COVID ซึ่งเป็นการรวมตัวของทันตแพทย์และคณะนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ที่มีจิตอาสา มาคอยให้บริการปรึกษาปัญหาในช่องปากแก่ประชาชนที่มีปัญหาหรือมีความจำเป็นต้องได้รับบริการทางทันตกรรมอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 และปิดตัวไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมานี้เองเนื่องจากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นและคลินิกทันตกรรมต่างๆ ก็เริ่มเตรียมกลับมาให้บริการกันอีกครั้งเร็วๆนี้

ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในทีมงานผู้จัดทำโครงการนี้ กล่าวถึงที่มาของการทำโปรเจ็กต์ดังกล่าวในช่วงก่อนหน้านี้มีการออกแนวปฏิบัติสำหรับคลินิกทันตกรรมเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยหัวใจสำคัญคือให้ลดการจัดบริการที่ทำให้เกิดการฟุ้งของละออง ทำให้คลินิกหลายๆแห่งเริ่มปิดบริการ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ดังนั้นจึงไม่อยากให้คนออกจากบ้านไปตระเวนคลินิกที่ยังเปิดบริการซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องไปอีกกี่ที่ ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าน่าจะมีการสื่อสารโดยรวบรวมหน่วยบริการที่ยังเปิดอยู่สำหรับกรณีฉุกเฉินทางทันตกรรมและจำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น ปวดบวม มีเลือดออกมาก โดยมีวิธีคัดกรองเพื่อให้คนที่จำต้องรับบริการสามารถไปยังหน่วยบริการที่เปิดรักษาได้ ส่วนคนที่ยังชะลอการรักษาได้ก็จะมีคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้เขายังไม่ต้องออกจากบ้าน

"นอกจากนี้ วิชาชีพเรายังไม่ค่อยมีการจัดกิจกรรมที่เป็นการรวมพลังใหญ่ๆแบบนี้นัก ก็ถือเป็นโอกาสอันดีในการรวมพลังวิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้เราก็อยากให้เป็นสเกลใหญ่ เป็นช่องทางเดียวที่ไม่ว่าใครจะอยู่ส่วนไหนของประเทศก็สามารถเข้ามาจุดนี้แล้วได้รับข้อมูลเลย"ทพญ.วรารัตน์ กล่าว

เนื่องจากสเกลงานที่ต้องการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้โปรเจ็กต์นี้ต้องการทันตแพทย์เข้าร่วมจำนวนมาก แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ จึงใช้วิธีรับสมัครทันตแพทย์จิตอาสาเข้ามาหมุนเวียนกันกะละ 10-20 คน คอยให้บริการตอบคำถามต่างๆที่มีผู้ป่วยถามเข้ามา โดยช่วงที่เปิดรับสมัคร 3 ชั่วโมงแรกมีทันตแพทย์สมัครเข้ามาร่วมกว่า 200 คนและเมื่อจบกระบวนการทั้งหมดก็มีทันตแพทย์จิตอาสาเข้ามาร่วมทำงานถึง 455 คน

"เราต้องการให้คนอยู่บ้าน แต่คนที่จำเป็นก็สามารถออกไปหาบริการได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงกำหนดขอบเขตบริการไว้ 3 อย่าง คือ 1.เป็นการแนะนำการบรรเทาอาการเบื้องต้นอย่างเหมาะสม 2.หากเคสที่จำเป็นเร่งด่วน เข้าข่ายฉุกเฉินทางทันตกรรม ก็จะแนะนำข้อมูลและเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้าน โดยที่เราได้สำรวจข้อมูลไว้แล้ว คนไข้ต้องติดต่อไปยังหน่วยบริการเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาตามที่หน่วยบริการกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่เคสที่เราคัดกรองก็เป็นเคสที่จำเป็น ทางหน่วยบริการปลายทางก็จะรับให้บริการอยู่แล้ว และ 3.บางเคสมีข้อสงสัยกังวลแต่ไม่รู้ว่าควรไปหาทันตแพทย์หรือไม่ ทันตแพทย์ก็จะให้คำปรึกษาเป็นการทั่วไปด้วย" ทพญ.วรารัตน์ กล่าว

ทพญ.วรารัตน์ กล่าวต่อไปว่า โจทย์ต่อมาคือทำอย่างไรถึงจะสื่อสารกับประชาชนทั่วไปได้ว่ามีบริการของทันตแพทย์จิตอาสาอยู่ จึงมีไอเดียว่า Line Official Account สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ และเผอิญว่าได้รู้จักน้องๆ นักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งเปิดกลุ่มเฟสบุ๊กสำหรับกลุ่มทันตแพทย์อยู่แล้ว จึงทาบทามให้มาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สื่อสารในวงทันตแพทย์รวมทั้งให้เป็นแกนหลักในการวางระบบ Official Account ตลอดจนประสานพี่ๆทันตแพทย์ที่มาลงเวรให้คำปรึกษา

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มคิดและหารือกันในวันที่ 30 มี.ค. 2563 และใช้เวลาเตรียมการ รวบรวมทีมงาน วางระบบต่างๆ 10 วัน โดยเปิดให้บริการในวันที่ 10 เม.ย. 2563 จากสถิติมีผู้แอดไลน์เข้ามาประมาณ 4,700 คน มีผู้ที่ส่งข้อความมาขอรับคำปรึกษาประมาณ 2,200 คน และยังพบอีกว่ากว่า 60% พักอาศัยอยู่ในกทม. และ 20% เป็นคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งหลังจากให้บริการมา 20 วันก็ได้ปิดให้บริการในวันที่ 30 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโดยรวมดีขึ้น คลินิกทันตกรรมในหลายๆพื้นที่เริ่มเตรียมพร้อมกลับมาเปิดบริการได้บ้างแล้ว อีกทั้งระหว่างนี้ก็มีคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลต่างๆ ก็มีช่องทางการติดต่อประสานงานในลักษณะนี้มากขึ้น ฉะนั้นจึงคิดว่าแม้จะปิดไปช่องทางนี้ไป ประชาชนก็ยังมีช่องทางเข้าไปติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้านได้อยู่

ทพญ.วรารัตน์ กล่าวอีกว่า หากประเมินภาพรวมการทำงานแล้ว ถือว่าโครงการนี้เป็นที่น่าพอใจมาก เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการทั้งๆที่ใช้เวลาในการรวมทีมแค่สัปดาห์เดียวและการทำงานก็มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นน้อยมาก และหลังจากปิดให้บริการ Line Official Account หมอฟันไทยสู้ภัย COVID ไปแล้ว หลังจากนี้ทีมเบื้องหลังอาจจะถอดบทเรียนการทำงานครั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่สนใจอยากสื่อสารผ่านช่องทาง Line Official Account เอาไปปรับใช้ต่อไปในอนาคต

ด้าน น.ส.ศิวนาถ โปษยาอนุวัตร นักศึกษาชั้นปีที่ 6 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมงานแอดมิน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนร่วมเป็นแอดมินกลุ่มเฟสบุ๊ก "ทันตแพทย์ไทยไฟต์โควิด" ซึ่งเป็นกลุ่มสำหรับให้ทันตแพทย์มาแชร์ความรู้และแลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือสถานการณ์การระบาด ต่อมาทาง ทพญ.วรารัตน์ ได้ทาบทามมาว่าอยากให้แอดมินของกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจ็กต์ด้วย เลยได้ไปร่วมประชุมกับทีมงานของอาจารย์

"พอไปก็รู้สึกชอบมากเพราะที่ประชุมก็มีอาจารย์ที่รู้จักและเคารพ มีอาจารย์ที่เคลื่อนไหวทางแวดวงวิชาการ ก็อยากทำงานด้วยมากๆ เลยเสนอตัวช่วยเป็นทีมงาน back office จากนั้นก็ไปชวนน้องๆที่เคยทำงานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทยด้วยกัน รวมอาสามาทำงานได้ 14 คนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยรังสิต"น.ส.ศิวนาถ กล่าว

หลังจากได้รับบรี๊ฟแล้ว ทีมงานใช้เวลา 5 วันในการหาทีมงาน ศึกษาการใช้ Line Official Account ตลอดจนวางแผนการทำงาน เพราะโปรเจ็กต์นี้มีทันตแพทย์เข้าร่วมกว่า 400 กว่าคน ถือเป็นตัวเลขที่เยอะ ทีมงานก็มาวางระบบว่าจะติดต่อกับคุณหมอเหล่านี้อย่างไร จะแบ่งเวรแต่ละวันอย่างไร ทำอย่างไรให้คุณหมอเข้ามาทำงานผ่าน Line ได้โดยมีส่วนร่วมมากที่สุดเพราะทุกคนก็มีใจอาสาอยากมาทำงาน

ส่วนการทำงานในแต่ละวัน ได้แบ่งทีมจับคู่ทำงานคู่ละ 2 วัน หมุนเวียนกันไป โดยทีมงาน back office จะเริ่มสแตนบายตั้งแต่ 7.00 น. เพื่อเข้ามาดูข้อความว่าคนไข้ทักเข้ามากี่คน มีที่ยังไม่ได้ตอบกี่คน เป็นการเคลียร์คนไข้เพื่อให้คุณหมอเข้ามาตอบ ติดต่อคุณหมอเพื่อคอนเฟิร์มก่อน 1 วัน และอีก 1 ชั่วโมงก่อนปฏิบัติงาน และทั้งวันก็จะแสตนบายเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคเฉพาะหน้า เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นตลอดทั้งวันไปจนถึง 2 ทุ่ม จากนั้นหมดเวลาให้บริการแล้ว ทีม back office ก็จะสรุปงานจนถึง 3 ทุ่ม

"จุดหนึ่งที่รู้สึกได้คือนักศึกษาเรามีแรง มีพลัง พอมาอยู่ด้วยกันมันก็เสริมแรงกันในการทำงาน ต้องขอบคุณพี่ๆและอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้ทำงาน เชื่อในความตั้งใจของเราและเคารพความคิดเห็นเราเวลามีข้อเสนอต่างๆด้วย รู้สึกเป็นประสบการณ์ที่ดี เป็นความสุขที่ได้ช่วยเหลือประชาชนทางใดทางหนึ่งเท่าที่เราสามารถทำได้"น.ส.ศิวนาถ กล่าว

ด้าน น.ส.อัยยมิญช์ ฉันทศิริพันธุ์ นักศึกษาทันตแพทย์ศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะผู้วาดภาพการ์ตูนที่ใช้สื่อสารในโครงการนี้ กล่าวว่าได้คุยกับพี่ๆว่ามีโครงการนี้และยังขาดคนที่เป็นแอดมิน ถ้าสนใจอยากช่วยงานก็ทักไปได้เลย ประกอบกับช่วงนั้นตัวเองอยู่ว่างๆก็เลยอยากเข้าร่วมงานนี้เพื่อช่วยทำประโยชน์ โดยในช่วงแรกตนมีหน้าที่ช่วยดูแลในการจัดระบบสนับสนุนต่างๆ แต่ต่อมาได้มีการหารือกันในทีมงานว่าจะประชาสัมพันธ์อย่างไรกันดีเพราะโปรเจ็กต์นี้ไม่มีหน้าเพจไว้สื่อสาร จึงเกิดความคิดว่าพวกรูปภาพสวัสดีวันต่างๆที่นิยมส่งต่อกันในแอปพลิเคชั่นไลน์น่าจะช่วยประชาสัมพันธ์ได้ และส่วนตัวก็เป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้วเลยเอาทักษะนี้มาใช้ในการทำงานด้วย

"วาดทุกวันรวมๆก็เกือบ 20 ภาพ กระบวนการวาดรูปเราจะคิดคำก่อน เริ่มจากคำว่าสวัสดี แล้วคำต่อไปจะใช้คำว่าอะไรก็จะมีพี่ๆทันตแพทย์ช่วยระดมสมองกันมา พอได้คำแล้ว หนูก็จะมาคิดต่อว่าจะใส่ลูกเล่นอะไรกับคำเหล่านี้ได้บ้าง เลยครีเอทตัวละครหลักเป็นคุณหมอ แล้วคุณหมอจะสื่อข้อความอะไรเป็นลูกเล่นน่ารักๆที่ทำให้ประชาชนสนใจ เมื่อวาดเสร็จเราก็จะแชร์ตามไลน์ไปเรื่อยๆ"น.ส.อัยยมิญช์ กล่าว

น.ส.อัยยมิญช์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่ได้เข้ามาร่วมโครงการนี้แล้วรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ใช้ความสามารถมาช่วยทำประโยชน์ให้วิชาชีพ แต่เมื่อถึงวันสุดท้ายของโครงการก็แอบคิดถึงไม่ได้เพราะต่อไปตัวละครนี้ก็อาจหายไป

"แอบใจหายบ้าง แต่รวมๆแล้วรู้สึกภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์ตัวละครนี้ขึ้นมามากกว่า" น.ส.อัยยมิญช์ กล่าว

ผู้เขียน : วิทยา ปะระมะ