ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเวลากว่า 3-4 เดือนแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม ณ ปลายเดือน เม.ย. 2563 อยู่ที่เกือบ 3,000 คน รักษาหายแล้วกว่า 2,600-2,700 คน ส่วนแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียงเลขหลักเดียว ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีมากเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ของไทยจะดีขึ้น แต่การระบาดรอบนี้ก็ฝากรอยแผลให้แก่สังคมอย่างมหาศาล ทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ทำมาหากินที่ฝืดเคือง คนจนในสังคมที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งถูกวิกฤตรอบนี้กระหน่ำจนแทบเอาตัวไม่รอด บางคนหาทางออกให้ตัวเองไม่เจอ ตัดสินใจฆ่าตัวตายจบชีวิตแสนลำบากไว้เพียงเท่านี้

นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว วิกฤตโควิดยังสร้างบาดแผลในใจให้กับใครอีกหลายคนที่ถูกสังคมตีตรา เช่น คนในกลุ่มเสี่ยงที่ถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวง หรือยิ่งเป็นคนที่ติดเชื้อด้วยแล้ว แม้จะรักษาจนหายแต่ยังมีบางคนที่ถูกสังคมรังเกียจเดียดฉันท์ กระทั่งบางคนไม่มีความเสี่ยงเลยแต่เพราะมีความสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อก็ยังถูกสังคมรอบข้างกดดันต่างๆ นานา

วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง หรือ โต้ง อายุ 39 ปี เป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่กี่คนที่กล้าออกมาประกาศตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อและพยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคมมาโดยตลอดว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสนี้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

โต้ง มีอาชีพเป็นพนักงานต้อนรับชาวต่างชาติที่สนามมวยทั้งที่เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี หน้าที่หลักคือดูแลเทคแคร์นักท่องเที่ยว ต้องสัมผัสตัวนักท่องเที่ยว เช่น รับเงิน พาไปนั่ง พาไปถ่ายรูปกับนักมวยและส่งกลับโรงแรม ดังนั้นเขาจึงสันนิษฐานว่าตัวเองน่าจะติดเชื้อมาจากชาวต่างชาตินั่นเอง

โต้ง เล่าย้อนสถานการณ์ในช่วงแรกๆที่เริ่มมีการระบาด ขณะนั้นประเทศไทยยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเป็นเดือนกว่าจะเริ่มไหวตัว จนกระทั่งวันที่ 11 มี.ค. 2563 เขาก็เริ่มมีอาการไข้ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว จึงหยุดงานพักผ่อนอยู่คอนโด กินยาพาราเซตามอลไป 1-2 วัน ไข้ก็ลด อาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวก็หายไป ตอนนั้นจึงยังไม่คิดว่าตัวเองจะติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 มี.ค. 2563 ทางแมทธิว ดีน ออกมาประกาศตัวว่าติดเชื้อโดยคาดว่าน่าจะติดมาจากสนามมวยลุมพินีวันที่ 6 มี.ค. 2563 เช่นเดียวกับคนในวงการมวยหลายคนก็ออกมาประกาศตัว โต้งจึงรู้สึกว่าตัวเองมีความเสี่ยงและเข้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชในวันที่ 14 มี.ค. 2563

"กรณีคุณแมทธิวถือเป็นเรื่องดีที่คนติดเชื้อออกมาบอก ช่วยให้คนที่มีความเสี่ยงได้รู้ตัว จะได้เข้าไปตรวจหรือกักตัว อันนี้สำคัญเพราะช่วงหลังๆไม่มีใครกล้าออกมาประกาศตัว กลัวว่าสังคมจะรังเกียจ ทำให้การระบาดขยายวงกว้างอยู่ช่วงหนึ่ง"

โต้ง เล่าย้อนไปว่า เมื่อตอนไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย คิดว่าตัวเองไม่น่าจะติดเพราะขณะนั้นทั้งประเทศมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 100 คน ตนเองไม่น่าจะซวยขนาดนั้น ยังขับมอเตอร์ไซค์ใส่เสื้อยืด กางเกงฟุตบอล ไม่ได้เตรียมกระเป๋าสัมภาระอะไรไปเลย แม้แต่สายชาร์จโทรศัพท์มือถือก็ไม่ได้เอาไปด้วย แต่เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงและให้ตรวจหาเชื้อฟรีด้วยสิทธิบัตรทอง โต้งรอผลอยู่ 8 ชั่วโมงในที่สุดผลตรวจก็ยืนยันว่าติดเชื้อ ทันทีที่ทราบผล โต้งรีบโพสต์เฟสบุ๊กเพื่อแจ้งเพื่อนๆและคนใกล้ชิดในรอบ 7 วันที่ผ่านมาให้ระวังป้องกันตัวเอง จากนั้นก็แอดมิดเป็นผู้ป่วยในและเข้าสู่กระบวนการรักษาของโรงพยาบาลต่อไป

โต้ง กล่าวต่อไปว่า ในขณะนั้นกระบวนการรักษาในเมืองไทยยังไม่มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เท่าที่คุยกับเพื่อนๆผู้ติดเชื้อพบว่าแต่ละโรงพยาบาลมีวิธีการรักษาไม่เหมือนกัน การให้ยาก็ไม่เหมือน วิธีการจะปล่อยตัวก็ไม่เหมือน ในส่วนของเขาเองทางเจ้าหน้าที่ได้อธิบายขั้นตอนวิธีการแล้วก็รักษาตามอาการ

"อย่างผมไม่ค่อยมีอาการเขาก็ให้ทานยาต้านไวรัสตั้งแต่วันแรกเลย แต่ละโรงพยาบาลก็มีสูตรยาไม่เหมือนกันอีก ของผมกินวันละ 10 เม็ด 5 วันติดกัน เขาก็มาเช็คทุก 2 วันว่าเชื้อลดลงหรือไม่ เชื้อตายหรือไม่ จนกินยาครบ"

โต้งยังกล่าวอีกว่า ในบางโรงพยาบาลต้องตรวจจนได้ผลเป็นลบถึงให้กลับบ้าน แต่ถ้าของโรงพยาบาลศิริราชจะไม่มีการตรวจซ้ำจนได้ผลเป็นลบ เพราะอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและข้อมูลจากทั่วโลกว่าเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่ในร่างกายคนได้ไม่เกิน 8 วันเชื้อก็ตายแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจซ้ำ ตรวจไปอาจได้ผลเป็นบวกแต่ตัวเชื้อตายแล้ว เป็นซากไวรัสที่อยู่ในร่างกาย ไม่สามารถแพร่ต่อได้แล้ว แต่เพื่อความแน่ใจ แพทย์ก็จะให้อยู่โรงพยาบาล 14 วัน และเพื่อให้แน่ใจมากขึ้นไปอีก ถ้าใครกลับบ้านได้ก็ให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่ออีก 14 วัน หรือถ้าใครไม่สะดวกอยู่บ้านก็ให้ไปอยู่โรงพยาบาลสนามที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก รวมเป็น 28 วัน

โต้งใช้เวลารักษาตัวทั้งหมด 28 วัน พอเมื่อครบกระบวนการรักษาแล้วคุณหมอก็ให้กลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย พร้อมกับเน้นย้ำให้ปฏิบัติตัวเสมือนไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเนื่องจากข้อมูลโรคนี้ยังมีน้อยมาก ไม่รู้ว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานแต่ไหน ดังนั้นจึงให้ใส่หน้ากากและล้างมือบ่อยๆ

"การใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเพราะเราไม่ทราบว่ามีใครติดบ้าง ถ้าใส่กันทุกคนก็จะช่วยป้องกันได้ ส่วนการล้างมือก็เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกาย ต้องระวังไม่เอามือมาจับหน้า เพราะเชื้อเข้าได้แค่ 3 ทาง คือตา จมูก ปาก เข้าทางอื่นไม่ได้ เข้าทางเลือดยังไม่ได้เลย ต่อให้เป็นแผลแล้วมีคนจามใส่ก็เข้าร่างกายไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อมันง่ายมาก แต่เราชอบเผลอกัน"

โต้ง เน้นย้ำว่า การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ยากจนเกินความสามารถ ขณะที่การติดเชื้อก็ไม่ได้ง่ายจนติดกันเยอะขนาดนั้น แต่กลายเป็นว่าคนในสังคมเครียดจนวิตกกังวลไปหมด กลัวว่าออกไปนอกบ้านก็ติดแล้ว แต่ถ้าเข้าใจโรคก็จะช่วยให้คลายความวิตกไปได้เยอะ

ทั้งนี้ แม้ว่าจะรักษาจนหาย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว หลายคนคาดหวังว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ติดเชื้อหลายคนกลับถูกสังคมรังเกียจ

โต้งเล่าว่าในส่วนของตนเองไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากอาศัยอยู่ในคอนโดซึ่งผู้อาศัยก็ไม่ค่อยรู้จักหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน มีเพียงแม่บ้านที่จะคุ้นหน้าคุ้นตากันมากหน่อย แต่ก็ใช้ชีวิตร่วมกันตามปกติ ไม่ได้มีท่าทีรังเกียจแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คนใกล้ชิดรอบๆตัวล้วนได้รับผลกระทบกันหมด เริ่มจากพ่อของเขาเองซึ่งอยู่ที่ จ.ชุมพร พอเขาติดเชื้อก็มีคนไปกระจายข่าวจนรู้กันทั้งจังหวัด ถึงขนาดนายอำเภอต้องไปหาพ่อที่บ้านเพื่อขอให้กักตัวและตรวจหาเชื้อด้วย ทั้งๆที่ครั้งล่าสุดที่โต้งกลับไปเยี่ยมพ่อนั้น ก็เป็นช่วงก่อนที่เขาจะติดเชื้อเสียอีก

"ผมงงมากเลย กลายเป็นว่าคนหมู่มากสามารถกดดัน ทำให้คนที่ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรต้องมาตรวจด้วย นี่คือเคสที่รู้สึกแย่มาก ตอนที่ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลยังชิลๆ แต่รู้ข่าวนี้แล้วเครียดขึ้นมาทันที โดนไม้แหย่จมูก มันเจ็บนะ อยู่ดีๆพ่อผมต้องมาเจ็บตัวเพราะคนแตกตื่นกัน ต้องโดนกักตัวห้ามออกไปไหนอยู่ 3 วันจนผลตรวจออกมา ซึ่งผลตรวจมันก็ต้องเป็นลบอยู่แล้ว ผมก็ไม่เข้าใจว่าเขาใช้ตรรกะอะไรในการพาพ่อผมไปตรวจ"

นอกจากพ่อของเขาแล้ว เพื่อนสนิทของโต้งซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ได้รับผลกระทบด้วยเพราะมีคนไปกระจายข่าวจนถูกห้ามมาอยู่ในคอนโด โดนไล่ให้ไปกักตัวที่อื่น 14 วัน ปล่อยให้ภรรยากับลูกอายุขวบกว่าต้องอยู่กัน 2 คน

"คิดดูสิว่าคนมันใจดำกันขนาดนี้เลยเหรอ ถ้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาบอกว่าต้องกักตัวก็ว่าไปอย่าง แต่นี่เขาไม่เกี่ยวเลย แต่ไปเอาคนในคอนโดมากดดันจนทางนิติฯต้องไล่ออกไป แม้แต่ร้านขนมที่ผมเคยไปก็ยังโดนปล่อยข่าวว่าผมเพิ่งไปร้านนี้มาไม่กี่วันก่อน จนเจ้าของร้านต้องปิดร้านนานเป็นอาทิตย์"

นอกจากคนรอบข้างต้องได้รับผลกระทบแล้ว โต้งเล่าว่าในกลุ่มเพื่อนผู้ติดเชื้อที่รักษามาด้วยกันก็ได้รับผลกระทบจากมายาคติและการตีตราในสังคมอย่างมาก

"น้องๆที่รักษามาด้วยกันหลายคนโดนรังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ บางคนกลับไปที่บ้านยังถูกคนในครอบครัวตัวเองแท้ๆแอนตี้ ไม่กล้าเข้าใกล้ บอกว่าให้ไปอยู่ที่อื่นก่อน 14 วันแล้วค่อยกลับบ้าน บางคนออกไปซื้อของกินแม่ค้ายังไม่ขายให้เลย หรือบางคนที่อยู่คอนโดก็โดนไล่ให้ออกไปกักตัวก่อน บางคนอยู่อพาร์ตเม้นต์ พอกลับไปก็โดนล็อกห้องไม่ให้เข้า จนเจ้าหน้าที่เขตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องไปเคลียร์ ถึงขนาดนั้นแล้วก็ยังไม่เชื่อ ต้องคุยกัน4-5 ชั่วโมงถึงยอมให้เข้าห้องแล้วมีเงื่อนไขว่าถ้าครบเดือนแล้วให้ออกไปเลย"

โต้ง ชี้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อเหล่านี้ไม่แฟร์เลย แค่ติดเชื้อก็ซวยแย่แล้ว ต้องไปรักษาตัวเป็นเดือน พอรักษากลับออกมานึกว่าหายดีแล้ว สบายแล้ว กลายเป็นโดนหนักกว่าเดิม

"ที่หนักกว่าโรคก็คือคนนี่แหละ บางทีเชื้อโควิดเข้ามาในร่างกายมันยังกำจัดออกไปได้ แต่ความคิดคนมันน่ากลัวกว่าโรค ต่อให้พูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง"

เรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลนี้ สิ่งที่โต้งอยากบอกแก่สังคมคือว่าคนที่แพทย์ให้กลับบ้านได้คือคนที่ต้องหายแล้วจริงๆ อย่าลืมว่าหมอต้องตรวจอย่างละเอียดแล้วถึงจะปล่อยกลับบ้านได้ เพราะถ้าไม่หายดีแล้วกลับบ้านไปแพร่เชื้อต่อ คนที่เดือดร้อนคือหมอกับพยาบาลเอง เพราะฉะนั้นเชื่อหมอดีที่สุด

"ถ้าไม่เชื่อหมอแล้วจะเชื่อใคร จะเชื่อสื่อเหรอ บางอย่างก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างเรื่องคนที่หายแล้วติดเชื้อซ้ำ พอเป็นข่าวแล้วทำให้คนเข้าใจผิดเยอะ ในโลกนี้ยังไม่มีใครติดเชื้อซ้ำ มีแต่ตรวจซ้ำแล้วมีผลเป็นบวก แต่ที่เป็นผลบวกคือซากเชื้อไวรัส แพร่ไม่ได้ ไม่ใช่ติดเชื้อซ้ำ นี่คือข้อมูลที่คุณหมอบอกมา แต่ทุกวันนี้ยังมีชุดความคิดที่เป็นมายาคติอยู่ อย่างเรื่องติดเชื้อซ้ำ ข่าวมาแค่นี้แล้วหายไปเลย ไม่มาแก้ข่าวด้วย คนก็ไม่ได้ศึกษาต่อว่าเพราะอะไร ทำไมผลตรวจกลายเป็นบวก แต่เหมารวมว่ากลับมาติดเชื้อใหม่ กลับมาแพร่ใหม่ได้อีก กลายเป็นว่าทั้งสังคมเข้าใจผิด พอเข้าใจผิดก็เลยรังเกียจคนที่ป่วยแล้วหาย กลัวว่ายังมีเชื้อโรคแฝงในตัว รอวันกลับมาปะทุใหม่ อันนี้เป็นมายาคติล้วนๆ"

โต้งฝากทิ้งท้ายว่า เรื่องลักษณะนี้ อยากฝากให้คุณหมอคุยกับคนรอบข้าง สื่อสารกับสังคมให้มากขึ้นเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจกันและทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้ปกติสุขต่อไป

ขอบคุณภาพจาก Facebook Tong Muaythai