ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยเหตุผลตรวจเชื้อยะลา 40 ราย มาจากผลตรวจค่าเปรียบเทียบ “negative” ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ทุกแล็ป ชื่นชมจนท.ปฏิบัติตามมาตรฐานพบ ERROR รีบแจ้งทันที พร้อมส่งทีมเชี่ยวชาญลงหาสาเหตุแล้ว

จากกรณีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในจ.ยะลาสูงถึง 40 ราย แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการตรวจซ้ำอีกรอบกลับพบผลเป็นลบ จนล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาประกาศว่า อยู่ระหว่างทวนสอบซ้ำ และส่งตรวจเชื้อมายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะได้ผลภายในสัปดาห์นี้

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สำหรับการตรวจเชื้อที่ได้รับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ คือ การสวอป(swab) หาตัวอย่างเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งการตรวจเชื้อวิธีนี้แม่นยำ แต่การทำค่อนข้างซับซ้อนในรายละเอียด ผู้ทำจึงต้องมีความเข้าใจวิธีการ และต้องมีความปลอดภัยในการตรวจด้วย อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกการตรวจจะให้ยืนยัน 2 แล็ป เพื่อยืนยันความแม่นยำชัดเจน แต่หลังจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สร้างเครือข่ายการตรวจขึ้นมา ก็จะมีกำหนดเกณฑ์ขึ้นว่า แล็ปที่จะตรวจเชื้อนี้ได้ ต้องมีนักเทคนิคการแพทย์ ต้องมีเครื่องตรวจ มีระบบความปลอดภัย และต้องมีความชำนาญ ซึ่งทางกรมฯ จะมีแบบทดสอบให้ว่าผ่านมาตรฐานความชำนาญหรือไม่  รวมทั้งต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และการรายงานข้อมูลตามกรมควบคุมโรคกำหนด ทำให้ขณะนี้ 150 ห้องปฏิบัติการ สามารถตรวจตัวอย่างไปแล้วทั้งสิ้น 227,860  ตัวอย่าง และแนวโน้มก็เพิ่มการตรวจมากขึ้นเรื่อยๆ  อย่างสัปดาห์สุดท้ายที่ผ่านมานับถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา ตรวจไปแล้วเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 พันตัวอย่าง ซึ่งมากกว่าช่วงต้นเม.ย. ถึง 2 เท่า ช่วงต้นๆเม.ย. ตรวจได้ 3 พันตัวอย่างในระดับประเทศ แต่ปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเทคนิคการตรวจวิธีนี้ในห้องปฏิบัติการจะมีตัวเปรียบเทียบ หรือตัวควบคุมเสมอ มี 2 แบบ คือ แบบ positive ตัวทดสอบต้องได้ผลบวกเสมอ ส่วน negative คอนโทรล จะใช้น้ำเปล่าก็จะต้องได้ผลเป็นลบตลอด ดังนั้น การตรวจ RT-PCR ต้องมี 2 แบบนี้เสมอ ส่วนกรณียะลา เมื่อนำไปทดสอบเปรียบเทียบตัวคอนโทรลดังกล่าว ปรากฏว่า เมื่อเปรียบเทียบผล negative โดยปกติต้องเป็นลบเสมอ แต่กลับได้ผลเป็นบวก แสดงว่าผิดปกติ เจ้าหน้าที่จึงต้องหยุดตรวจและรายงานทางจังหวัดเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งเขาก็ทำตามมาตรฐาน โดยแล็ป รพ.ยะลา เป็นแล็ปที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด และที่ผ่านมาก็ตรวจในจ.ยะลาไปแล้วกว่า 4 พันตัวอย่างใน 1 เดือน ดังนั้น สิ่งที่ปฏิบัติถือว่ามีมาตรฐานในการดำเนินงาน

“สาเหตุที่ว่าเพราะอะไรตัวเปรียบเทียบเป็นลบ เกิดผลบวกขึ้นมา ซึ่งทางห้องปฏิบัติการความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ หลักๆ มี 3 อย่าง คือ เกิดจากมนุษย์ เกิดจากเครื่องมือ และความผิดพลาดของระบบ ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาดต้องหาสาเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งห้องแล็ปยะลา ก็ดำเนินการตามมาตรฐานที่ต้องตรวจสอบ ดังนั้น การตรวจทุกแล็ปไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกครั้งเสมอ อาจต้องมีความผิดพลาดได้  อย่างที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นแล็ปจากจุฬา หรือกรมวิทย์ฯ ก็เคย ดังนั้น ทางออกที่ผ่านมาก็หาแล็ปอีกแห่งตรวจซ้ำ หรือเราตรวจซ้ำเองอีกรอบ ” นพ.โอภาส กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม เวลาเราตรวจด้วยวิธีเชิงรุกจะไม่เกิน 5% แต่กรณีของยะลานั้น ขณะนี้ทางคณะผู้เชี่ยวชาญของกรมวิทยาศาสตร์ฯ และทางม.สงขลานครินทร์ ได้ลงไปช่วยในการตรวจสอบหาสาเหตุต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการเก็บตัวอย่างเชิงรุกที่ยะลานั้น เป็นการเก็บตัวอย่างจากจมูก กับคอ โดยตรวจหาสารพันธุกรรมด้วย RT-PCR ซึ่งเป็นมาตรฐาน ส่วนผลการตรวจซ้ำครั้งที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งมาที่ส่วนกลาง คาดว่าผลตรวจจะออกไม่เกินวันพรุ่งนี้( 6 พ.ค.) ส่วนการทวนซ้ำก็จะมีการดำเนินการ โดยจะทำทั้งใช้ตัวอย่างเดิมมาตรวจซ้ำ และตัวอย่างใหม่ ขอย้ำว่าการตรวจเชื้อไม่ตรงกันเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะช่วงแรกก็มีเช่นกัน