ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชีวิตยังไม่ปกติหลังคลายล็อกดาวน์ หวั่นภาวะความเครียดเพิ่ม แรงงานเสนอรัฐสร้างหลักประกันสังคม

ภายหลังรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 3 พ.ค. จนวันนี้ สมาชิกชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม กรุงเทพมหานครก็ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“ตอนนี้คนส่วนมากในชุมชนยังออกไปทำงานไม่ได้ มีคนทำงานในตลาดไม่กี่คน พอตลาดเปิดก็ได้ทำงาน แต่คนอื่นๆ ทำอาชีพขายของบ้าง หาของเก่าบ้าง รับจ้างเขาบ้าง ถึงจะปลดล็อกเปิดเมืองให้บ้าง แต่การประกอบอาชีพก็ไม่เหมือนเดิม คนถูกเลิกจ้างก็ตกงานไปแล้ว” วิมล ถวิลพงษ์ สมาชิกชุมชนพูนทรัพย์ และตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค เล่ากับ Hfocus

“สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ หรือแรงงานนอกระบบ น่าจะใช้เวลา 2 เดือนหรือมากกว่านั้น กว่าจะหาเงินมาดำรงชีพได้ กว่าจะหางานใหม่ กว่าจะหลุดพ้น ต้องใช้เวลา หลายคนเครียดมาก เพราะไม่รู้อนาคตตัวเอง ไม่มีเงินในกระเป๋า”

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ประกาศคลายล็อก 6 กิจกรรม

กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการ รวมถึง ตลาดสด แผงลอย ร้านค้าปลีกขนาดย่อม รถเข็น และหาบเร่ อันเป็นแหล่งประกอบอาชีพหลักของแรงงานนอกระบบและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดเมืองตลอดเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าผู้ได้รับผลกระทบจะฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทันที โดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นในระหว่างการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า แนวโน้มที่ประเทศไทยจะเผชิญกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อาจลากยาวไปจนถึง 1-3 ปี

โดยมีผลกระทบหลัก คือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลลูกโซ่มายังผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อประชาชนทั่วไป เช่น มีอาการเครียด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย ขณะที่อาจเกิดสภาวะเหนื่อยล้าและหมดไฟของบุคลากรทางการแพทย์ อันเกิดจากการให้บริการในภาวะวิกฤติมาอย่างยาวนาน โดยผลกระทบเหล่านี้มีความรุนแรง “ขึ้นเร็ว” และ “ลงช้า”

ขณะที่วิมลเอง ก็ยอมรับว่าตนเองมีสภาวะกังวลไม่ต่างจากอีกหลายคน เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชีวิตปกติกลับคืนมา

“พี่หาของเก่า ขายของมือสอง ราคาของที่เราหาได้ตกลงตั้งแต่มีโควิด ที่บ้านมีลูกสาวทำงานบริษัท ลูกเขยขับรถสองแถว รายได้ก็ตก ครอบครัวต้องพึ่งพาลูกสาวเป็นหลัก พี่อยากช่วยลูกนะ อยากออกไปทำงาน แต่ลูกสาวห้าม กลัวไปติดโรคมา แล้วถ้าเค้าติด เค้าต้องกักตัว ถูกเลิกจ้าง” วิมลเล่า

“คิดแบบเขาก็ถูก มันเสี่ยงข้างนอกบ้าน แต่พี่ไม่มีเงินแล้ว โควิดก็โควิดเถอะ พี่ไม่ยอมอดตาย ต้องออกไปทำงาน แล้วก็ดูแลรักษาตัวเองเอา ใส่หน้ากาก พกเจล ล้างมือบ่อยๆ

ช่วงน้ำท่วม (ปี 2554) ยังผ่อนคลายกว่านี้ ตอนนั้นน้ำท่วมบ้าน ไม่มีกิน แต่ยังรู้ว่าเหตุการณ์จะจบเมื่อไร แต่โควิด เราวิตกกังวล เพราะเราไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร จะติดเมื่อไร ถ้าติดหนึ่งคน ทั้งชุมชนจะไม่รอด ต้องกักตัวกันหมดจนไม่ได้ทำมาหากิน”

ความเครียดจากโควิด-19 สู่ความรุนแรงในครอบครัว

ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจไทยแต่เดิมอยู่ในสภาวะชะลอตัว ภาวะความเครียดได้กลายเป็นปรากฎการณ์ที่แพร่ขยายไปทั่วสังคมไทย จนเมื่อโรคโควิด-19 ระบาด ภาวะความเครียดถูกตีซ้ำ จนปะทุออกเป็นการฆ่าตัวตายและใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งปรากฏบนหน้าข่าวรายวัน

การศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในระหว่างปี 2558-2560 ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากราคาสินค้าเกษตรลดลง การจ้างงานในภาคเกษตรและภาคการผลิตชะลอ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ (Gini coefficient) เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน การบริโภคต่อหัวของครัวเรือนที่จนล่างสุดร้อยละ 40 ลดลง

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของอัตราความยากจนจาก 7.2% เป็น 9.8% ของประชากรทั้งหมด หรือเพิ่มจาก 4.85 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคนในระหว่างปี 2558 และปี 2561

“เรามีคนจนเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว หลังเหตุการณ์โควิด จะเกิด ‘คนจนทันที’ เพิ่มมากขึ้นอีก นั่นย่อมนำไปสู่ภาวะความเครียด และอาจนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น” จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลติดตามข่าวในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมา พบข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวจำนวน 165 ข่าว แบ่งเป็นกรณีฆ่ากันตาย 91 ข่าว (52.73%) ทำร้ายร่างกาย 31 ข่าว (18.79%) ฆ่าตัวตาย 24 ข่าว (14.55%) การล่วงละเมิดทางเพศ 16 ข่าว (9.6%) และ อื่นๆ 7 ข่าว (4.24%) ซึ่งจะเด็จเห็นว่าจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีตัวเลขค่อนข้างสูง

กรณีฆ่ากันตาย เป็นเหตุการณ์ที่สามีกระทำภรรยามากถึง 2 ใน 3 เช่นเดียวกับกรณีทำร้ายร่างกายซึ่งสามีกระทำภรรยา และลูกกระทำพ่อแม่ มีสัดส่วนสูงสุด โดยสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดมักเป็นพื้นที่ในเขตเมือง รวมถึงกรุงเทพมหานคร และมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายกรณี

ย้อนกลับไปในปี 2561 การเก็บข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัวรวม 623 ข่าว สูงกว่าปี 2559 ร้อยละ 35.4 ขณะที่การเก็บตัวเลขทางสถิติของกรุงเทพมหานครจากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข พบว่า พบว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงจำนวน 1,115 ราย ในช่วงเดือน ต.ค. 2561-ก.ย. 2562 โดยร้อยละ 35 เกิดขึ้นในบ้าน

สะท้อนว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นในทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ

“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีมาต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีโควิด และไม่มีท่าทีจะลดลง เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มาจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ในไทย เราพบว่าในหลายครอบครัว ผู้ชายรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของคนในครัวเรือน” จะเด็จให้ความเห็น

“แต่แน่นอนว่าโควิดเข้ามาเพิ่มความรุนแรงให้ปัญหานี้ การกักตัวในที่เดียวกันนานๆ และหากผู้ชายแสดงอำนาจ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในครัวเรือนที่นำไปสู่ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีภาวะความเครียดจากการตกงาน มาตราการช่วยเหลือจากภาครัฐไปไม่ถึงครัวเรือน ความไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งพาไปสู่ความรุนแรงได้ทั้งนั้น”

สังคมไทยเปราะบางต่อวิกฤติ เสนอสร้าง “ตะแกรง” รองรับสังคม

การฆ่าตัวตายเป็นอีกประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อคณะอาจารย์จากหลายหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมตัวกันใน “โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” เผยแพรการรวบรวมข้อมูลจากการรายงานข่าวระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย.

พบข่าวที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายรวม 38 ราย แบ่งเป็นกรณีที่มีผู้เสียชีวิต 28 ราย ไม่เสียชีวิต 10 คน คณะวิจัยยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า “ให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง” มากกว่าการฆ่าตัวตาย ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของรัฐบาล

มาตรการดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงัก ห้างร้านปิดชั่วคราว แรงงานจำนวนมากถูกนายจ้างเลย์ออฟ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ผลกระทบมีความรุนแรงในกลุ่มแรงงานนอกระบบและผู้มีรายได้น้อย โดยสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. มีคนตกงานสูงถึง 6.5 ล้านคน

“สถานการณ์ทำให้คนจนตรอก มีความเครียด คนที่ทนสภาวะนี้ไม่ได้ ไม่มีทางไป ก็จบที่ฆ่าตัวตาย” วาสนา ลำดี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน และอดีตแรงงานผู้ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ

“คนที่ฆ่าตัวตายเพราะเขาไม่มีทางเลือก หรือเลือกมาแล้วว่าเป็นทางรอดของครอบครัวและตนเอง การฆ่าตัวตายอาจผ่านการคิดของเขามาแล้ว ไม่ใช่คิดสั้นอย่างที่ใครพูดกัน”

ในมุมมองของวาสนา สังคมไทยเปราะบางต่อวิกฤติมาโดยตลอด

ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เมื่อภาวะเศรษฐกิจซบเซาผลักให้คนจำนวนมากคนตกงานหรือล้มละลาย อัตราการฆ่าตัวตายพุ่งสูงตาม จากสถิติรวบรวมโดยกรมสุขภาพจิต อัตราการฆ่าตัวตายในช่วงปี 2540-2542 เพิ่มจาก 6.92 คนต่อประชากร 100,000 คน เป็น 8.12 และ 8.59 คนตามลำดับ

ภายหลังวิกฤติการณ์อุทกภัยปี 2554-2555 อัตราการฆ่าตัวตายกระโดดจาก 6.03 เป็น 6.2 คน เช่นเดียวกับกับช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวในระหว่างปี 2558-2561 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.47, 6.35, 6.03 และ 6.32 ตามลำดับ

แม้ว่าสถิติดังกล่าวไม่สามารถยืนยันว่าปัญหาปากท้องจากวิกฤติ เป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายหรือไม่ แต่ก็แสดงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างปัญหาเศรษฐกิจและอัตราการฆ่าตัวตาย

“ที่สังคมเราเปราะบางแบบนี้ เพราะเราไม่มีแนวคิดสร้าง ‘ตะแกรงรองรับทางสังคม’ ซึ่งนอกจากจะหมายถึงรัฐสวัสดิการแล้ว ยังหมายทุนกองทุนประกันความเสี่ยงที่ช่วยแรงงานเมื่อเกิดสภาวะวิกฤติ โดยอาจหักเงินจากภาษีที่นายจ้างเสียให้รัฐบาลสมทบไว้ในกองทุน เมื่อเกิดวิกฤติ มีการเลิกจ้าง ผู้ได้รับผลกระทบก็สามารถไปลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือได้ทันที” วาสนากล่าว

“ที่ผ่านมา การพัฒนา(เศรษฐกิจ)ของประเทศไทยไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ฝังใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาที่ผ่านมาทำให้แรงงานยังจนอยู่ เมื่อเกิดวิกฤติแบบโควิด มาตรการรองรับทางสังคมของรัฐบาลกลายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อุดปัญหาเป็นจุดๆ แต่ความช่วยเหลือไม่ครอบคลุมทุกคน

ยังมีวิกฤติรอเราอยู่อีกมาในอนาคต ทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่มาแทนที่แรงงาน โรคระบาด หรือโลกร้อน เราต้องคิดกันจริงจังว่าจะสร้างมาตรการรองรับทางสังคมแบบใด”

ผู้เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ