ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านมาหลายสัปดาห์ที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน อยู่ในหลักหน่วย ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเหลืออยู่ในหลักร้อยคนเศษ สิ่งที่วิตกกันก่อนหน้านี้ ว่าจะมีผู้ป่วยหลักหมื่น หลักแสนคน ไม่ได้เกิดขึ้น และไทย สามารถรับมือกับการระบาดได้ดีกว่าที่คาด

คำถามหลังจากนี้ก็คือ แล้วชีวิตหลังโควิด – 19 จะอยู่กันอย่างไร, New Normal จะหน้าตาแบบไหน การระบาดซ้ำ หรือ Second Wave นั้น “น่ากังวล” จริงไหม แล้วยังเหลืออะไรที่ควรทำ และต้องทำ เพื่อให้ชีวิตกลับไปสู่ความปกติ โดยเฉพาะสภาพสังคม - เศรษฐกิจ หลังจากวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป

Hfocus มีโอกาสคุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หมอเลี๊ยบ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรมช.สาธารณสุข ซึ่งรับบทบาทที่ปรึกษาด้านหลักประกันสุขภาพของ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เพื่อสะท้อนมุมมองอนาคตหลังโควิด – 19 ว่าเรากำลังจะได้เจอกับอะไร

นพ.สุรพงษ์ เริ่มด้วยการประเมิน “ตอนจบ” ของเรื่องนี้ ว่าการระบาด อาจไม่ได้น่ากลัว และอาจไม่ได้ยาวนานนัก เพราะการระบาดของโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 นั้น เริ่มระบาดไปทั่วเอเชียตะวันออกในเดือน เม.ย. แต่พอเข้าสู่เดือน ก.ค. โรคระบาดที่หลายคนกังวลว่าจะไปทั่วโลก ก็หายไปเฉยๆ

“มีโอกาสจบแบบซาร์สมั้ย ผมคิดว่าก็มีโอกาส ไม่ได้ถึงกับตัดโอกาสนี้ไปเลย คือตอนนี้ ถ้าเราดูในหลายๆประเทศที่มันจบคลื่นลูกแรกไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาระบาดใหม่ ก็มี แต่มันน้อย ไม่ได้เยอะมาก แบบจีน ก็คุมอยู่” นพ.สุรพงศ์กล่าว

แต่ปัญหาของโควิด – 19 คือ มันไปทั่วโลก และยังมีอีกหลายเรื่องที่แพทย์เองไม่รู้ เช่น จะรักษาด้วยวิธีไหนถึงจะได้ผลที่สุด เช่น ยา Remdesivir ก็ยังมีการดีเบตอยู่ว่าจะได้ผลหรือไม่ ซึ่งในญี่ปุ่นเอง อนุมัติให้ Remdesivir เป็นยารักษาแล้ว แต่ในสิงคโปร์เอง ที่อัตราการเสียชีวิตน้อยมากนั้น ปรากฏว่าสิงคโปร์เอง ไม่ได้ใช้ยาตัวไหนรักษาเลย ใช้เพียงแค่ประคับประคองเท่านั้น ซึ่งก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะผู้ป่วยในสิงคโปร์ มาจากวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ อาการเลยไม่หนัก

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ก็อาจจะเป็นอีกสตอรี่ คนก็อาจจะไม่ได้กลัวมาก แต่ทั้งหมดนี้ ก็ต้องอย่าเพิ่งตัดโอกาสที่โรคนี้ อาจอยู่กับเราเป็นปี

Face Shield และ New Normal ถ้าต้องอยู่กันอีกนาน

ก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ จัดประกวด Face Shield หรือหน้ากากคลุมใบหน้า ตา จมูก และปาก จนได้ผู้ชนะ และได้เงินรางวัล 1 ล้านบาท เตรียมนำไปสู่การผลิตจริง ซึ่งจนถึงตอนนี้ เขายังเชื่อว่า Face Shield จะยังเป็น New Normal ใหม่ของสังคมไทย ทั้งในช่วงเวลาการระบาดหนักที่ผ่านมา และในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด หากยังต้องอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปอีกเป็นปี จนกว่าจะมี “วัคซีน” จริง

“ก็มีการใช้งานกันมากขึ้น ถ้าคุณดูทีวีตอนนี้ ทุกคนก็ใส่กัน ในหลายอาชีพที่จำเป็นต้องแต่งหน้า ต้องเปิดหน้า ใส่หน้ากากไม่ถนัด พูดไม่ถนัด ก็หันมาใช้ Face Shield กันมากขึ้น”

“แล้วตอนนี้ ล่าสุดมันมีงานของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ว่าโควิด - 19 สามารถติดเชื้อทางตา ได้มากกว่าโรคซาร์สถึง 100 เท่า ถ้าอาศัยแค่หน้ากากอนามัยอย่างเดียว มันก็แค่ป้องกันไม่ให้คนที่ป่วย หรือคนที่มีอาการอยู่ แพร่เชื้อไปเท่านั้น แต่มันไม่สามารถป้องกันคนที่ใส่ไม่ให้รับเชื้อได้ เพราะมันมาทางตาได้” หมอเลี๊ยบระบุ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พยายามคุยกับผู้ที่ชนะการประกวด ก็คือทำให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น ไม่เทอะทะ แล้วในที่สุดก็จะกลายเป็นแฟชั่น เหมือนที่ในต่างประเทศ เริ่มเป็นเทรนด์ และเริ่มมีงานวิจัยระบุชัดมากขึ้นว่า Face Shield นั้น สามารถใช้งานได้จริงกว่าหน้ากาก และป้องกันมากกว่าหน้ากาก

“ตัวที่ชนะการประกวด ก็เอาไปประยุกต์ ใช้พลาสติกที่หนาขึ้น แล้วก็พลาสติกที่ป้องกันการเกิดฝ้า ปรากฏเขาใช้แล้วเขาชอบมาก แล้วก็เพิ่มไซส์ มีไซส์ทั้งเด็ก และไซส์ผู้ใหญ่”

Face Shield นี้ เริ่มผลิตแล้ว และเริ่มมีคนประสานว่าจะแจกไปยังโรงเรียน ให้เด็กก่อนในช่วงแรกๆ แล้วก็กำลังติดต่อโรงงาน ให้ผลิตเป็นวงกว้างมากขึ้น

แต่ปัญหาหลังจากนี้ก็คือ โควิด – 19 จะจบแบบไหน ถ้าจบแบบหายไปเลยเหมือนโรคซาร์ส Face Shield ก็อาจไม่จำเป็น เพราะฉะนั้น จึงยังต้องรอทิศทางอีกสักระยะหนึ่ง..

แล้วชีวิตคนไทยจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่? นพ.สุรพงษ์บอกว่า ถ้าดูค่า Reproduction Rate (R0) หรืออัตราที่คน 1 คน จะแพร่เชื้อต่อได้กี่คนนั้น แม้โรคนี้ จะดูเหมือนค่า R0 จะสูง และในหลายประเทศก็ยังสูง แต่เอาเข้าจริงแล้วขึ้นกับสถานการณ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกัน เรื่องความแออัด หรือสภาพพื้นที่

“R0 ตอนแรกเราบอกกันว่าจะอยู่ที่ 2-5 ด้วยซ้ำไป ตอนนี้ก็ไม่แน่แล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่แต่ละพื้นที่ จริงๆ มันเป็นการคำนวณเชิงสถิติมากกว่า เอางี้ ถ้าบอกว่า ทุกคนใส่ Face Shield หมดเลยนะ คลุมหน้าได้จริงนะ R0 คืออะไร ถ้ามันแพร่ต่อไม่ได้ ให้แออัดยังไงก็แพร่ไม่ได้” นพ.สุรพงษ์บอก

ไทยไม่แย่ และจะไม่แย่กว่านี้แล้ว..

สำหรับประเทศไทย หมอเลี๊ยบเชื่อว่า น่าจะกลับมาเป็นภาวะปกติได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมส่วนตัวของคนไทย เริ่มจากการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเริ่มกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 การใส่หน้ากาก จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ ไปจนถึงวัฒนธรรมการไม่จับเนื้อต้องตัว ไม่สัมผัสมือ ไม่หอมแก้ม เจอหน้า ก็แค่สวัสดี ซึ่งทำให้โรคนี้ไม่ได้ “แย่” อย่างที่หลายคนคาดการณ์

“อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจคือมากคือมันร้อนมาก วันนี้ ถ้าดูเทอร์โมมิเตอร์ อากาศมัน 30 กว่า แต่รู้สึกเหมือน 45 – 46 องศา คือมันร้อนจริงๆ แล้วทั้งรังสี UV ทั้งความร้อน ความชื้น มันทำให้โอกาสของการแพร่เชื้อโควิดในบ้านเราน่าจะน้อย”

“ถ้าถามว่า เฉพาะประเทศเรา ไม่รวมถึงยุโรป ที่ตอนนี้เป็นรอยต่อ ในการที่จะเข้า ผ่านจากหนาวมาฤดูใบไม้ผลิ อากาศก็ยังเป็นใจกับโควิด ก็ยังต้องระวังกันต่อ แต่ในประเทศไทย ผมคิดว่าวันนี้ คือถ้า 80% ยังใส่หน้ากาก ยังไม่ถึงขนาดประเภทปล่อยปละละเลยกันมาก โอกาสที่จะแพร่ระบาดรอบที่ 2 น้อยมาก”

ส่วนจำนวนเทสต์นั้น ยิ่งหากดูให้ชัด ก็ยิ่งไม่น่ากังวลเข้าไปใหญ่..

“ตอนนี้ถ้าดูเทสต์ ตรวจกันจนกระทั่งเยอะแยะมากมาย ยังเจอแค่ไม่ถึง 2% เพราะฉะนั้น ในความเห็นผมโควิด – 19 ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าเรื่องอื่น”

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ “หลอน” คนไทยทุกครั้ง ก็คือการ “รวมตัว” เยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นบนสถานีรถไฟฟ้า บนรถสาธารณะ หรือภาพรถติดบนท้องถนนออกนอกเมือง

หมอเลี๊ยบบอกว่า ทั้งหมดเป็นความกลัว เพราะคนไทยจำนวนมากยังไม่รู้ว่าโควิด – 19 ติดแบบไหน และยังไม่รู้ว่าติดยาก - ง่าย แค่ไหน

“คือถ้าดูแบบคลัสเตอร์เวทีมวยลุมพินี แมทธิว ติดกับลิเดีย แต่ลูกทำไมไม่ติด พ่อแม่ทำไมไม่ติด เขาอาจจะไม่ได้ถึงสนิทสนมกันมากกับพ่อแม่ อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน อาจจะเจอกัน พูดคุยกัน ก็เลยไม่ติด แต่ลูกไม่ติดก็น่าสนใจ”

“หรืออย่างกรณี นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา ก็ติดจากเวทีมวยลุมพินีที่เดียวกัน ก่อนที่เขาจะมีอาการ เขาก็ร่วมงานเยอะแยะไปหมดเลย พบประชาชนเยอะแยะ ทำไมไม่ติด คือมันไม่ได้ติดกันเยอแยะง่ายขนาดนั้น คือมันติดง่ายไหม มันติดง่ายกว่าซาร์ส เพราะมันติดตอนที่ยังไม่แสดงอาการชัดเจน ระยะฟักตัว ก็สามารถจะติดได้ แต่มันไม่ใช่ว่าเจอหน้ากัน โควิดวิ่งมาเหมือนซอมบี้ เดินเข้ามา จะมากัดเลย”

หมอเลี๊ยบบอกว่า ถ้ายังใส่หน้ากาก โอกาสติดก็น้อยมาก แล้วถ้าไม่เอามือมายุ่งกับหน้า ไม่ขยี้ตา ไม่หยิบอะไรใส่ปากโดยที่ไม่ล้างมือ ไม่ได้เช็ดแอลกอฮอล์ ก็ไม่มีโอกาสอะไรที่จะติด

“อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสวันนั้น ผมไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการติดอะไรมากมาย เพราะวันนั้น คนใส่หน้ากากกันเต็มไปหมด หรือก่อนหน้านี้ คนขับรถเมล์ที่เป็นผู้หญิง ที่เป็นถึงขนาดเสียชีวิต แต่คนที่ติดกับเขา คือเพื่อนที่ไปกินข้าวด้วยกัน แต่คนที่อยู่บนรถเมล์ด้วยกันก็ไม่ติด ทั้งที่ วันนั้นรถเมล์ก็แออัดด้วย” นพ.สุรพงษ์แสดงความคิดเห็น

ส่วนจะผ่อนปรนได้มากขนาดไหนนั้น เขาคิดว่าหากเป็นธุรกิจทั่วไป ที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันมาก ไม่ต้องบังคับให้เปิดหน้ากากออก ไม่ว่าจะเป็นห้าง คลินิก สปา หรืออะไรที่มีคนไปเดินซื้อของ ใช้เวลานาน หากมีมาตรการรองรับก็ไม่น่ามีปัญหา และถึงเวลาที่ต้องผ่อนคลายได้แล้ว

“แต่อย่างเช่น ผับ สนามมวย ผมว่าเป็นไปไม่ได้ คนที่เข้าผับ สนามมวย ผมว่าก็ต้องเปิดหน้ากาก แล้วมันก็จะมีละอองฝอยออกมามากมาย ธุรกิจแบบนั้น คงต้องให้มั่นใจจริงๆ ว่าไม่มีแล้ว หรือเป็น 0 จริงๆ ติดต่อกันนานพอสมควร” หมอเลี๊ยบระบุ

ควรผ่อนปรนเดินทางข้ามจังหวัดได้แล้ว

อดีตรองนายกฯ บอกว่า การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แต่ละจังหวัด “ตั้งการ์ด” กันเอาไว้ เพื่อไม่ให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขล่าสุด จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ 28 วัน นั้น มีถึง 45 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย มีถึง 10 จังหวัด ซึ่งจังหวัดพวกนี้ ควรเปิดให้จังหวัดข้างเคียงที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ ข้ามไปข้ามมาได้แล้ว

“ถ้าเราดูกันดีๆ คือโซนภาคเหนือที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย นี่เกือบหมดละนะ ฉะนั้น ถ้าบอกว่า เราจะรีแล็กซ์เพิ่มขึ้น แทนที่จะมาล็อคกันเป็นจังหวัด อาจจะล็อคเป็นพื้นที่เป็นภาคก็ได้ หรือเป็นกลุ่มจังหวัดก็ได้ เช่น 10 จังหวัดนี้ เดินทางไปมาหากันได้ อย่างนี้เป็นต้น น่าจะเริ่มได้แล้ว” นพ.สุรพงษ์กล่าว

“หรือถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราทำ Tracing ติดตามคนเข้าจังหวัด ได้อย่างเอาจริงเอาจังแล้ว ก็ควรที่จะผ่อนคลาย ให้เดินทางข้ามจังหวัดได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัดที่ไม่ได้ระบาดหนักมาก อย่างกรุงเทพฯ ผมก็ยังคิดว่า ไม่ควรจะไปจัดให้คล้ายภูเก็ต เพราะภูเก็ต เรายังไม่รู้ว่าเข้าที่หรือยัง” นพ.สุรพงษ์กล่าว

เพราะฉะนั้น การเดินทางข้ามจังหวัด ระยะแรกอาจจะขยายเป็นกลุ่มจังหวัดได้เลย เช่นในภาคเหนือ เดินทางไปมาได้แล้ว ไม่ใช่ล็อคกันไปมา หรือกักตัวกัน แล้วถ้าผ่านเดือนนี้ไป สิ้น พ.ค. แล้วสถานการณ์การระบาดรอบ 2 ไม่มีเลย ก็ควรจะผ่อนปรนเรื่องนี้ให้หมด

“ผมเอง เชื่อว่าไม่มีนะ แล้วถ้าทุกคนเห็นว่าไม่มี ผมคิดว่า การเดินทางข้ามจังหวัด น่าจะเริ่มทำได้แล้ว เพราะเกาหลีใต้ หรือในจีน ก็ให้ข้ามจังหวัดกันได้หมดแล้วตอนนี้” หมอเลี๊ยบระบุ

Second Wave อาจเป็นเรื่อง “พูดกันไปเรื่อย”

สัปดาห์ที่แล้ว มีแพทย์หลายคนออกมาแสดงความกังวลว่าอาจเกิด Second Wave หรือการระบาดระลอกใหม่ ที่รถบนท้องถนนเริ่มติด ด้วยสาเหตุที่ “คนกรุง” เริ่มออกไปทำงานมากขึ้น และในสัปดาห์นี้ หลายองค์กร เริ่มให้พนักงานที่ Work from Home นานนับเดือน กลับเข้าออฟฟิศมากขึ้น หลังจากตัวเลขการติดเชื้อน้อยลงจนบางวันเหลือ 0

“คือความเชื่อเรื่อง Second Wave ก็เป็นแบบพูดกันไปเรื่อยๆ ผมก็จะแซวอยู่เรื่อย ก็จะเหมือนความเชื่อเรื่องจะมีคนติดเชื้อ 3.5 แสนคน จนกลัวกันหมดเลยตอนนั้น แล้วถึงทำแล้ว ก็จะมีคนติดเชื้อ 2.4 หมื่นคนอยู่ดี วันนั้น แม้แต่คนที่ผมไม่เชื่อว่าจะสนับสนุนให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังสนับสนุนให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เชื่อกันไปหมด” หมอเลี๊ยบเล่าให้ฟัง

“มาวันนี้ก็แบบเดียวกัน ก็เป็นการพูดว่า เรื่องเวฟที่สองจะมา คือโดยทางทฤษฎี ซึ่งผมไม่รู้ว่าไปอ้างมาจากไหน ก็เคยเห็นกราฟจากกรมควบคุมโรค ว่ามันจะมีหลาย Wave หรือหมอบางคน บอกว่า เวฟที่สองจะหนักกว่าเวฟที่หนึ่ง คือถ้ามองดู เวฟ 1-2-3 มาจากไหน มาจากไข้หวัดสเปน หรือ Spanish Flu ซึ่งเกิดขึ้นร้อยกว่าปีที่แล้ว”

แล้วทั้งหมด ก็เป็นความรู้ในขณะนั้น ซึ่งโรคนี้ เผอิญไปจบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังจบสงครามโลกพอดี ทำให้มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามทวีป แล้ว ณ เวลานั้น คนก็ยังไม่เข้าใจเรื่อง Second Wave พอจบรอบแรก ก็เลยไม่ป้องกันอะไร รวมถึงยังมีการฉลองชัยชนะ ก็เลยเกิดเป็นอีก Wave ขึ้นมา

“ถ้าหากวันนี้ แต่ละคนยังพยายามเดินหน้าป้องกันตัวเองตลอดเวลา ใส่หน้ากาก ใส่ Face Shield ล้างมือ กินร้อน อย่างนี้ จะเกิด Wave ใหม่ไหม? ผมว่าไม่ ฉะนั้น ความเชื่อเรื่องเวฟ เป็นความเชื่อที่บอกต่อๆ กันมา โดยไม่เฉลียวใจ ว่ามันคืออะไรแน่”

“มันก็เหมือนตอนที่ผมพูดเรื่อง HIV ที่บอกว่าใช้ถุงยางอนามัย คือถ้ามองย้อนกลับเรื่อง HIV ถามว่า Physical Distancing ของ HIV คืออะไร ก็คือการไม่มีเพศสัมพันธ์ เรื่องของการ Test and Trace คืออะไร ก็คือการตรวจในผู้หญิงขายบริการทุกสัปดาห์ ถามว่า นั่นคือมาตรการที่ก่อนจะรณรงค์ช่วงใช้ถุงยางอนามัย 100% แต่พอรณรงค์ เริ่มใช้ถุงยาง 100% เรื่องการห้ามมีเพศสัมพันธ์ การตรวจทุกสัปดาห์ ก็จบไปเลย ไม่ต้องใช้ต่ออีกแล้ว เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่การป้องกันตัวของแต่ละคน ที่เป็นหลักมากกว่า” นพ.สุรพงษ์ระบุ

แล้วถามว่า ถ้าหากหยุด Work from Home ทุกคนกลับไปทำงานที่ออฟฟิศกันหมด จะเกิด Second Wave หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ บอกว่า ถ้าทุกคนกลับมาทำงานกัน ถ้าทุกคนระวังตัวอยู่เสมอในที่ทำงาน เรารู้จักกันว่าคนนี้ เพื่อนกันไม่มีปัญหา ก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก

“อย่างเช่น ในวอยซ์ทีวีที่ผมจัดรายการ ตอนนี้ พวกพิธีกร ก็ไม่ใส่หน้ากากกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเจอคนแปลกหน้า เราก็ต้องใส่หน้ากากกัน แบบนี้เป็นต้น แล้วเราก็ระวังเรื่องหยิบของเข้าปากตลอดเวลา ฉะนั้น ถึงเราจะมาทำงานที่ทำงานก็ไม่มีผลหรอก อย่างบางบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ซึ่ง WFH เขาทำได้อยู่แล้ว ทำ WFH ไปได้สักอาทิตย์สองอาทิตย์มั้ง แล้วทุกคนก็กลับมาทำงานกัน เขาบอกว่า เบื่ออยู่ที่บ้าน อยู่ที่บ้านแล้วมันไม่มีสังคม ไม่มีการคุยกัน” นพ.สุรพงษ์บอก

เพราะฉะนั้น เขาไม่เชื่อว่า คนไทยจะต้อง Work from Home กันอีกเป็นปี จนกลายเป็น New Normal และการ Work from Home น่าจะจบในอีกเวลาไม่นานนัก!

“ที่บอกว่า New Normal ต้องทำงานที่บ้าน หลังจากนี้ Co-Working Space อาจจะไม่มีอีกแล้ว คอนโดจะอยู่กันไม่ได้ หลังจากนี้ต้องอยู่บ้านเดี่ยว.. ผมก็คิดว่า มันก็เป็นเรื่องที่อาจจะคิดเลยเถิดกันไปหรือเปล่า ว่าทุกครั้งที่เราเจอวิกฤต ต้องเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เสมอไป”

“อย่างตอนนั้น ผมเจอสึนามิ ตอนปี 2547 ก็มีคนบอกว่า รับรองเลย ภูเก็ต ไม่มีอนาคตอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าอยู่ฝั่งอันดามัน เขาต้องมาอยู่อ่าวไทยกัน เชื่ออย่างนั้นสักปีสองปีมั้ง แล้วภูเก็ตก็กลับมาบูมเหมือนเดิม

หรือตอนนั้น ก็บอกว่า เราจะต้องมีทุ่นเฝ้าดูสัญญาณสึนามิ ว่ามันจะมีหรือเปล่า วันนี้ทุ่นมันทำงานหรือเปล่า ยังไม่รู้เลย..” นพ.สุรพงษ์เล่าให้ฟัง

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - เคอร์ฟิว อาจไม่จำเป็นอีกแล้ว..

ก่อนหน้านี้ หมอเลี๊ยบแสดงความไม่เห็นด้วยมาตลอดกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจนถึงตอนนี้ เขาก็ยืนยันว่าควรจะยกเลิกได้แล้ว

“ผมว่าเขาก็จะพยายามลากให้จบไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ ก็เหมือนกับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกาศไปถึง 31 พ.ค. เคอร์ฟิวก็จะต้องมีต่อไป”

“แต่คำถามที่จะถูกถามแน่ๆ ก็คือในสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดวันที่ 22 พ.ค. นี้ จะตั้งคำถามกับตัว พ.ร.ก. ทุกฉบับที่จะต้องเอาเข้าสภา เพราะฉะนั้น พ.ร.ก.ทั้งหลาย ก็จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์แล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือถ้าวันที่ 22 พ.ค. ไม่มีตัวเลขผู้ป่วยเยอะแยะมากมาย ถ้ามันยังอย่างนี้ 1-10 คน การประกาศ พ.ร.ก. ถึง 31 พ.ค. โดยที่ไม่ได้ประเมินว่าผลกระทบที่ตามมามันคืออะไร ก็จะถูกถามหนักขึ้นว่าจะคงไว้ทำไม เพราะผลกระทบมันมหาศาล” อดีตรองนายกรัฐมนตรีระบุ

ระบบพื้นฐานสาธารณสุขดีติดอันดับโลกไม่ได้มาเล่นๆ

ในฐานะที่ปรึกษาของ รมว.สาธารณสุข และคลุกคลีกับกระทรวงสาธารณสุขมานาน จนถึงวันนี้ หมอเลี๊ยบยังคงยืนยันว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดการกับโรคโควิด – 19 ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงหายนะได้นั้น คือระบบสาธารณสุขไทย “ดี” จริง

“มันสะท้อนว่าระบบพื้นฐานของกระทรวงสาธารณสุขดีจริง ไม่ใช่แบบคำที่บอกว่าดีอันดับ 6 ของโลก ไม่ได้มาโดยเล่นๆ ไม่ได้ฟลุค แต่เป็นของจริง แล้วที่ผมได้สัมผัสเนี่ยจริง ไม่ว่าจะเป็นนักระบาดวิทยา เขาเข้มแข็งจริงๆ เครือข่ายของเขา ก็แน่นจริงๆ ในพื้นที่”

“หรือตัว อสม.เอง แรกๆ ผมก็ไม่มั่นใจ เพราะมีคนมาบอกว่า อสม.ส่วนใหญ่อายุมากแล้ว จะไหวไหม ปรากฏว่าก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ คนที่เป็น อสม. เป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ดีในพื้นที่ เพราะโดยหลักการ การคัดเลือก อสม. คัดเลือกจากการที่มีคนปรึกษาหารือ ขอความช่วยเหลือมากที่สุด เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ อายุประมาณอย่างนี้ ก็ยังเข้มแข็งกันได้” นพ.สุรพงษ์ระบุ

หรืออย่างเรื่องระบบการตรวจเชื้อ ที่หลายคนวิพากษ์กันมากในช่วงแรกนั้น ในที่สุดก็ปรับให้เข้าที่เข้าทางได้ จนเหลือผู้ติดเชื้อไม่มาก

“ระบบการตรวจ ช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่า ยังคงยังมีปัญหา ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้มแข็ง รวดเร็วนัก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาจจะเคลื่อนตัวช้าไปนิดนึง แต่ตอนหลัง พอมีสถานการณ์คลัสเตอร์เวทีมวย เขาก็ปรับตัวได้เร็ว แล้วก็มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เข้ามาช่วย เรื่องการตั้งงบประมาณ หัวละ 3,000 บาท ก็เกิดความตื่นตัวของภาคเอกชนเยอะ เพราะก่อนหน้านั้น ภาคเอกชนเองอาจจะยังมองไม่เห็นว่านี่เป็นโอกาส ความจริงนี่ก็เป็นโอกาสที่เขาจะสร้างรายได้ ในช่วงเวลาที่รายได้อื่นก็หดไปด้วย” นพ.สุรพงษ์ระบุ

ฉะนั้นเมื่อผสมผสานหลายอย่าง ก็เลยทำให้เรื่องเทสต์โอเค ไม่มีปัญหา ระบบกระทรวงสาธารณสุข ต้องยอมรับว่าเป็นระบบที่พื้นฐานดี แต่ถ้าเป็นวิกฤตที่มาแรงๆ เร็วๆ ช่วงแรกของวิกฤต อาจจะปรับตัวช้านิดหนึ่ง แต่พอปรับตัวได้แล้ว ก็สบายใจ ไม่น่ามีปัญหานัก

หลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะทำอะไรได้อีก? หมอเลี๊ยบบอกว่าหลังจากนี้ อาจจะต้องต่อยอด นำเอาเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อทำให้ระบบพื้นฐานด้านสาธารณสุข “สมาร์ท” มากขึ้นมันสมาร์ทมากขึ้น

“การรวบรวมข้อมูลช่วงแรก อาจจะไม่ได้ฉับไว ไม่ได้รวมศูนย์ แล้วก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี ไอที มากเท่าไหร่ แต่พอผ่านช่วงหนึ่งมา ก็ดีขึ้น มีหมอที่เป็นไอทีเก่งๆ ในชั้นกรม ทั้งจังหวัดต่างๆ เข้ามาทำอะไรกันเยอะแยะ อย่าง อสม. ก็ต้องพัฒนาให้แอพพลิเคชันของเขาทีมีอยู่ สามารถเอามาเป็นเครื่องมือ ควบคุมโรค ในท้องถิ่นได้”

“ส่วนแต่ละกระทรวงเอง บทเรียนจากครั้งนี้ ก็คงจะทำให้เกิดการบูรณาการฐานข้อมูล หรือ Integration ให้ได้มากกว่านี้ เพราะรอบนี้ ที่ผ่านมา กว่าที่จะเริ่มดึงข้อมูลข้ามกันไปมาได้ ต้องใช้ความพยายามที่จะเจาะหาข้อมูลในแต่ละกระทรวง แต่ละกรมช่วงหนึ่ง แต่พอรวมศูนย์การทำงานกันแล้ว ทุกอย่างก็ไปได้เร็วมาก” อดีตรองนายกฯ กล่าว

ชีวิตปกติ อาจไม่นานอย่างที่คิด

“คือถ้าเหมือนกับซาร์ส ก.ค. นี้ก็ปกติ ถ้าแถวย่านเอเชีย หายไปหมดเลย ผมว่าครึ่งหลังของปี ก็อาจจะกลับมาปกติแล้วล่ะ แต่ก็ต้องดูว่าโลกตะวันตกเป็นยังไงด้วย ถ้าโลกตะวันตก ยังสาละวนกับการแก้ปัญหาโควิดอยู่ มันก็อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาได้ทั้งหมด” นพ.สุรพงษ์ประเมินสถานการณ์

สมมติว่า ยังต้อง Off and On อย่างนี้ไปเรื่อยๆ หมอเลี๊ยบบอกว่า ชีวิตก็ควรจะเป็นเหมือนก่อนที่จะมีเหตุการณ์ที่สนามมวยลุมพินีเกิดขึ้น นั่นคือชีวิตสามารถใช้ได้ปกติ ทุกคนระมัดระวังพื้นที่เสี่ยง ใส่หน้ากาก ส่วนสถานที่เสี่ยง ถ้ายังมีคนติดเชื้อประปราย ก็ยังไม่ต้องรีบเปิด

แต่ที่ “ไม่ปกติ” ง่ายๆ อาจเป็นเรื่อง “เศรษฐกิจ” มากกว่า...

“แต่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การส่งออกมากกว่า คือในแง่วิถีชีวิต คงจะไม่เปลี่ยน แต่รายได้ ความเป็นอยู่ ที่อิงกับรายได้ที่ได้มา จะกระทบมาก น่าจะเป็นเรื่องนั้น แล้วก็จะมีผลกระทบไปถึงเรื่องการเมือง คือการเมือง ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แบบที่เป็นอยู่ ในเดือนที่ผ่านมา ก็น่าจะลำบาก” นพ.สุรพงษ์ ระบุ

“คือสาธารณสุขพื้นฐานดี แต่ระบบเศรษฐกิจเรา ระบบพื้นฐานมีปัญหา ทั้งเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าหากยังทำงานแบบประเภท เหมือนกับแจกเงิน 5,000 บาท ปัญหาต่างๆ จะรับมือไม่ทันแน่ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน วิถีชีวิตที่เกี่ยวกับสุขภาพ จะฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่วิถีชีวิตที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เรื่องรายได้ ของคน อันนี้ จะหนักหนามาก แล้วอาจจะมีผลกระทบ ทำให้เกิดปัญหา ข้อขัดแย้ง ทั้งทางเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ”

หมอเลี๊ยบยกตัวอย่างการแจกเงิน “เราไม่ทิ้งกัน” 5,000 บาท 3 เดือน ให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเกิดปัญหามากมายในช่วงแรก ตั้งแต่การลงทะเบียน การจัดสรรว่าจะให้ใคร หรือไม่ให้ใคร หรือบางอาชีพได้ แต่บางอาชีพไม่ได้ และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่จบ..

“คุณอยากจ่าย 5,000 คุณก็จ่ายสิ คำถามคือทำไมคุณต้องจ่าย 5,000 โดยตั้งกฎเกณฑ์นู่นนี่นั่น แล้วคนก็เข้าถึงยากมาก อย่างที่ผมชอบเปรียบเทียบก็คือ มันเหมือนการจ่ายเงินแบบสมัยตอนมีบัตรรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อย คุณต้องมีบัตร คุณถึงจะได้รักษาฟรี คือคุณต้องมีสิทธิ์เท่านั้น ถึงจะได้เงิน ผมว่าไม่ใช่”

“คือคนที่ด้อยโอกาส คนที่ยากจนจริงๆ เขาไม่มีมีสิทธิ์ที่จะไปลงทะเบียนได้อยู่แล้ว พวกนั้น ก็จะหลุดหายไปเลย สิ่งที่ควรทำไปเลย แล้วหลายประเทศเขาทำอยู่ก็คือแจกถ้วนหน้า หรือถ้าคุณกลัวจริงว่าจะสิ้นเปลือง คุณก็เลือกเอาเลยจากฐานข้อมูลของกรมสรรพากร ว่าเสียภาษีปีนึงเท่าไหร่ พวกนั้น ก็ไม่ต้องให้ แต่ถ้าเสียภาษีน้อย หรือถ้าไม่เสียภาษีเลย ก็ไปบวกกับข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ดูข้อมูลของคนที่ไม่เสียภาษี แจกไปเลยก็จะช่วยได้ นั่นคือฐานคิด พอฐานคิดมันมีปัญหา มันก็สะท้อนว่าการรับมือด้านเศรษฐกิจก็เลยน่าเป็นห่วง”

นพ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งตัวเขานั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย..

“ตอนนั้น เรารู้ว่าถ้าปล่อยให้ไก่ติดเชื้อ มันมีโอกาสที่จะคุมโรคไม่ได้ ก็ฆ่าไก่ไป 30 ล้านตัว แต่ก็ชดเชยให้ฟาร์มไก่ไปเลย 5,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น วันนี้ บอกว่าเราปิดเมือง ก็เหมือนการฆ่าไก่ คือทุกคนหยุด ไม่มีรายได้ ทุกอย่างหยุดหมดเลย คุณก็ต้องชดเชยให้กับคนที่เขาไม่ไหวแล้วที่จะอยู่ใต้สถานการณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้น จะไปคิดมากอะไร ก็จ่ายไป”​ หมอเลี๊ยบเล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นเขาประเทศไทยจะเจอ “ศึกหนัก” แน่ เพราะนักท่องเที่ยวจะไม่มาง่าย การส่งออกก็จะมีปัญหาใหญ่เช่นกัน เพราะประเทศคู่ค้า ล้วนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจถ้วนหน้า

“คำถามก็คือคุณจะอยู่แบบไหน การท่องเที่ยวแบบเดิมจะทำได้ไหม ถ้าบอกว่าเราจะเอาความภูมิใจ หรือชื่อเสียงที่เราสามารถรับมือโควิดได้ดี เช่น ถ้าจะสร้างฐานเศรษฐกิจแบบใหม่ เช่น การจะเปลี่ยนจากท่องเที่ยวระยะสั้น เป็น Long Stay ระยะยาว เอาจริงเอาจังได้ไหม”

“ผมว่าตรงนี้น่าคิด คืออย่างน้อยคนที่มาอยู่ประเทศไทย การดูแลสุขภาพดี อากาศดี ทุกอย่างดี อาจจะต้องเริ่ม Long Stay เอาจริงเอาจัง คือคนกลุ่มนี้ ถ้าเข้ามาแล้วต้องกักตัว 14 วัน เขา Long Stay อยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่ถ้าระยะสั้น ถูกกักตัว 14 วัน เขาก็ไม่มาหรอก นี่คือตัวอย่างแนวคิดที่ต้องจริงจังมากขึ้น”

สัมภาษณ์/เขียน โดย สุภชาติ เล็บนาค