ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธนรักษ์” รองอธิบดี คร.เผยอย่ากังวลกรณีถอด “จีน-เกาหลีใต้” ออกจากโรคติดต่อไม่ได้เปิดเมือง ให้เข้าไทยเสรี ยังคุมเข้ม ส่วนจะพิจารณาผู้เดินทางประเทศใดเข้าไทยได้ต้องรอดูสถานการณ์

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่วันนี้พบ 0 ราย ถือเป็นวันที่สอง โดยภาพรวมมีผู้ป่วยสะสม 3,025 ราย หายป่วยและกลับบ้าน 2,855 ราย กำลังรักษาในรพ. 114 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 56 ราย เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตของไทยค่อนข้างต่ำมาก

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการถอนประเทศเกาหลีใต้และจีนออกจากเขตโรคติดต่ออันตราย จะส่งผลให้มีการเดินทางเข้าประเทศจนเสี่ยงระบาดระลอก 2 หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แม้จะถอนประเทศเหล่านี้ออก แต่โดยหลักการคนที่เดินทางมาจาก 2 ประเทศนี้ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ เพราะยังมีข้อสั่งการเรื่องการห้ามบินอยู่ เพราะฉะนั้น แม้ ณ วันนี้จะถอน 2 ประเทศนี้ออก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยของประเทศเขาลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีผลการควบคุมโรคในระยะนี้

“ส่วนการพิจารณาว่า ผู้เดินทางจากประเทศใดจะสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ในอนาคต เรื่องนี้คงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป ดังนั้น จึงยังไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงแต่อย่างใด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

เปิดสาเหตุต้องถอด ‘จีน-เกาหลีใต้’ ออกจากประเทศเขตติดโรคอันตราย ‘โควิด-19’

“อนุทิน” ลงนามยกเลิกประเทศเกาหลีใต้ จีน มาเก๊า ฮ่องกง ออกจากเขตโรคติดต่ออันตราย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 นั้นก็จะทำให้กลับมาใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ และเศรษฐกิจเดินไปได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องป้องกันควบคุมโรค โดยมาตรการหลัก 3 อย่าง คือ มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการระดับบุคคล และมาตรการระดับองค์กร รายละเอียด คือ

1. มาตรการทางสาธารณสุข ต้องหยุดไวรัสทำได้อย่างไร ข้อแรก ต้องป้องกันเข้มข้น ข้อสอง ค้นหาผู้ป่วย ข้อสาม ควบคุม ข้อสี่ การรักษา อย่างไรก็ตาม ประเด็นค้นหาผู้ป่วยนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ประกอบด้วย แบบแรก คือ การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก นำข้อมูลมาพิจารณาว่ากรณีไหนเจอผู้ป่วยบ่อยต้องเข้าไป และอีกแบบ คือ การเฝ้าระวังด้วยการตรวจค้นในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการน้อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้เล็กน้อย กลุ่มผู้สูงอายุ และหากโรงเรียนเปิดก็จะมีการตรวจในกลุ่มครู นอกนั้นติดตามการป่วยด้วยโรคหวัดเป็นกลุ่มก้อน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ และจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตทุกสาเหตุ เนื่องจากมีรายงานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม ว่า คนไข้โควิดอาจมีอาการแตกต่างออกไป ทั้งอาการสมอง อาการหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ

2.มาตรการระดับบุคคล ทุกคนต้องช่วยกัน แม้จะเริ่มเปิดกิจการจากการผ่อนปรนมากขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าจะออกไปได้หมด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ควรออกไป เพราะการออกไปย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้น การออกนอกบ้านต้องระมัดระวัง เพราะการออกจากบ้านและกลับบ้านมาย่อมมีความเสี่ยงนำเชื้อกลับมาได้

3.มาตรการระดับองค์กร มีหลายอย่างที่มาตรการระดับบุคคลแก้ปัญหาไม่ได้ โดยต้องอาศัยสถานประกอบการ เจ้าของกิจการช่วย อย่างรัฐบอกให้ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น แต่หากองค์กรไม่ให้ก็ทำไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนให้ทำงานอยู่ที่บ้าน โดยยังเป็นมาตรการที่จำเป็น หน่วยงาน หรือองค์กรไหนสนับสนุนเรื่องนี้ได้ขอให้ทำต่อไป หรือการใช้วิธีเหลื่อมเวลาการทำงาน การเข้างานไม่ตรงกันก็อยู่ที่การพิจารณา และสนับสนุนให้ทำทุกอย่างผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งต้องทำทั้งภาครัฐและเอกชน

“ภาครัฐต้องกลับมานั่งทบทวนว่า จากนโยบายงานดิจิทัลของรัฐบาล ในการสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ขณะนี้เราทำไปถึงไหนแล้ว เพื่อนำมาใช้ตรงนี้ ให้ประชาชนลดการติดต่อกับภาครัฐด้วยการมาถึงหน่วยงานราชการ แต่ให้ทำผ่านทางออนไลน์แทน เป็นต้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง