ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ สปสช.เยี่ยมชมการทำงานของ อสส. สาขาเขตแสนแสบ ศูนย์สุขภาพชุมชน 43 ชี้ช่วยเติมเต็มบริการสุขภาพ คนในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างดี พร้อมหนุน กทม. ขับเคลื่อนกองทุนสุขภาพระดับเขตเพื่อให้ออกแบบบริการที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตมีนบุรี-คลองสามวา ณ ซอยสุวินทวงศ์ 13 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ทำงานส่งเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

นางอารีย์ ศักดิ์วิชิต อสส.สาขาเขตแสนแสบ ศูนย์สุขภาพชุมชน 43 กทม. กล่าวว่า ในพื้นที่นี้มีกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการที่ต้องติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมอประมาณ 40 คน โดยมีทีม อสส. 4-5 คน ร่วมกันทำงานลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเดือนละ 4 ครั้ง ช่วยวัดความดัน ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหากผู้ป่วยรายใดมีภาวะสุขภาพที่ไม่ดีก็จะประสานกับแพทย์พี่เลี้ยงเพื่อขอรับคำแนะนำต่อไป

"มีความสุขมากที่ทำงานนี้ เพราะตัวดิฉันเองเคยเป็นป่วยเส้นเลือดในสมองแตกมาก่อน ต้องนอนติดเตียงอยู่ระยะหนึ่ง พอรักษาหายแล้วเลยเข้าใจและอยากจะทำงานรับใช้สังคม จึงทำงานนี้เรื่อยมากว่า 20 ปีแล้ว" นางอารีย์ กล่าว

ทั้งนี้ การทำงานที่โดดเด่นของ อสส.เขตพื้นที่ดังกล่าวคือการรับยาแทนผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจาก อสส.จะทราบข้อมูลของผู้ป่วยในชุมชน จึงทราบว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือแบบไหน ทาง อสส.จึงดำเนินการติดต่อโรงพยาบาลเพื่อรับยาแทนผู้ป่วยมาได้ 3-4 ปีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ต้องรับยาแทนจำนวน 8 ราย ทุกรายมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง บางรายร่างกายอ่อนแอไม่สามารถเดินได้ และนอกจากคอยรับยาให้แล้ว ยังช่วยเหลือในเรื่องการประสานงานจัดทำบัตรประจำตัวผู้พิการอีกด้วย

ด้าน นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า พื้นที่ กทม. มีความซับซ้อนสูง มีความเป็นเมือง มีหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม มีทั้งชุมชนที่อยู่ห่างไกลและเขตที่มีพื้นที่น้อยแต่ประชากรหนาแน่น รูปแบบประชากรก็มีการหมุนเวียนสูง มีประชากรแฝงที่เข้าๆออกๆ พื้นที่ ต่างกับต่างจังหวัดซึ่งมีความใกล้ชิดของชุมชนสูง คน กทม.หลายๆ คนยังไม่รู้จัก อสส.ด้วยซ้ำ แต่โชคดีที่ในพื้นที่ที่มาเยี่ยมชมครั้งนี้มีคนที่มีจิตใจดี ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการสุขภาพอย่างดี จุดสำคัญของที่นี่คือการที่ชุมชนดูแลกันเอง การมี อสส. มาช่วยทำให้เกิดการเติมเต็มอย่างมากเพราะคนที่จะเข้าใจหัวอกคนในชุมชนก็คือคนในชุมชนด้วยกันเอง ถ้าไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลก็อาจไม่มีเวลามาก แต่ อสส.จะรู้ว่าสภาพบ้านเป็นอย่างไรและไม่ได้ดูแลเฉพาะคนไข้แต่ดูแลไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้คนในพื้นที่นี้ได้รับการบริการไม่ด้อยไปกว่าต่างจังหวัด

นพ.ประจักษวิช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของภาพรวมเชิงระบบ สปสช.ทำงานใกล้ชิดกับ กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งการออกแบบบริการในแต่ละพื้นที่จะเน้นไปที่สำนักงานเขตต่างๆ โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นของ กทม. มีการออกแบบให้กองทุนย่อยลึกลงไปถึงระดับเขต และขณะนี้แต่ละเขตกำลังเริ่มขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดการออกแบบบริการที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง

"เนื่องจากความซับซ้อนของพื้นที่ กทม. ทำให้การตั้งหลักของกองทุนระดับเขตพื้นที่ กทม. ยังไม่แพร่หลาย แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็มีความพยายามที่จะใช้เงินกองทุนสุขภาพท้องถิ่นเหมือนพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นอะไรที่ยังไม่เคยทำก็อาจจะยากนิดหนึ่ง แต่ขณะนี้เริ่มแล้ว สปสช.ก็สนับสนุนตรงนี้เพื่อให้เกิดการออกแบบที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่" นพ.ประจักษวิช กล่าว